หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน ร่วมมือกับชมรมภริยานาวิกโยธิน ดำเนินการจัดโครงการ Green Maines

Release Date : 03-04-2024 17:12:25
หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน ร่วมมือกับชมรมภริยานาวิกโยธิน ดำเนินการจัดโครงการ Green Maines

หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน ร่วมมือกับชมรมภริยานาวิกโยธินดำเนินการจัดโครงการ Green Maines โดยให้ศูนย์รับซื้อขยะรีไซเคิล หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน ดำเนินการรับซื้อขยะรีไซเคิล ณ ตลาดนัดลานมะรีน ทุกวันอังคารของต้นเดือน ระหว่างเวลา ๑๖๐๐ - ๑๘๐๐ เพื่อเป็นการสร้างจิตสำนึกในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและเป็นการสร้างรายได้เสริมให้แก่กำลังพลและครอบครัวต่อไป ณ ค่ายกรมหลวงชุมพร ต.สัตหีบ อ.สัตหีบ จว.ชลบุรี

…………………………………………

โครงการ Green Marines ภายใต้ความร่วมมือของ หน่วยบัญชาการนาวิกโยธินร่วมกับชมรมภริยานาวิกโยธิน ภายใต้ชื่อ Green Marines ได้แนวทาง โครงการ Green Navy ของกองทัพเรือ นำมาปรับประยุกต์ให้ต่อยอดเข้ากับ นาวิกนคร 4.0 โมเดล เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

“ Green Marines “ แนวความคิดในการต่อยอดของโครงการ นาวิกนคร 4.0 จัดทำขึ้นโดยการรับซื้อขยะจาก ครอบครัวและหน่วยงานอื่นๆ รวมทั้งนำขยะพลาสติกที่ใช้แล้วมาจำหน่ายให้กับศูนย์รับซื้อขยะของหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน เพื่อนำไปผ่านกระบวนการแปรรูปเป็นสินค้าต่างๆ เพื่อเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อมอีกทั้งยังเป็นการช่วยส่งเสริมรายได้ให้กับครอบครัวกำลังพล ของหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน

“ นาวิกนคร 4.0 โมเดล “

หน่วยบัญชาการนาวิกโยธินได้จัดทำโครงการแก้ไขปัญหาขยะโดยใช้ชื่อว่า “นาวิกนคร 4.0 โมเดล” โดยมีวัตถุประสงค์ของโครงการ คือ แก้ไขปัญหาขยะตามหลักวิชาการที่ถูกต้องอย่างบูรณาการและยั่งยืนเพื่อให้มีผลลัพธ์ที่ต้องการคือขยะเป็นศูนย์ (Zero Waste) และสามารถเป็นต้นแบบให้กับหน่วยงานอื่นของกองทัพเรือ และหน่วยงานอื่น ๆ ในพื้นที่ ซึ่งเริ่มดำเนินการอย่างจริงจัง เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ ด้วยความตั้งใจอย่างแน่วแน่ที่จะแก้ปัญหาขยะ ที่สะสมให้หมดไปจากพื้นที่ค่ายกรมหลวงชุมพร โดยมีหลักการบริหารจัดการเพื่อแก้ปัญหาขยะอย่างบูรณาการและยั่งยืน ประกอบไปด้วย

๓ ขั้นตอน (3R) คือ ๑.ลดการเกิดขยะ (Reduce) ๒.การนำกลับมาใช้ซ้ำ (Reuse) และ ๓.การหมุนเวียนนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) ซึ่งในขั้นตอนการหมุนเวียนนำกลับมาใช้ใหม่ได้นำ นวัตกรรมการบำบัดขยะด้วยวิธีธรรมชาติ NBT (Natural Biological Treatment) ซึ่งเป็นวิธีการบำบัดขยะแบบใหม่ สามารถจัดการกับขยะได้จนเหลือศูนย์ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สามารถคืน

ความสมดุลสู่ระบบนิเวศ โดยการดำเนินการแก้ไขปัญหาขยะเริ่มต้นด้วย การลดการเกิดขยะ (Reduce) คัดแยกขยะเพื่อนำมาใช้ใหม่ (Reuse) และการปลูกจิตสำนึก สร้างการรับรู้เรื่องการบริหารจัดการขยะให้กับกำลังพล และครอบครัว ตลอดจนเยาวชน บุคคลทั่วไปที่มาร่วมเข้าค่ายฝึกอบรมต่าง ๆ

ภายในน่วย พร้อมกับรณรงค์ ออกมาตรการให้กำลังพล และครอบครัวคัดแยกขยะตั้งแต่ครัวเรือน จัดตั้งศูนย์รับซื้อขยะรีไซเคิลเพื่อรับซื้อขยะจากกำลังพลและครอบครัว ส่งเสริมโครงการสำนักงานไร้ขยะ จัดตั้งธนาคารขยะในโรงเรียนนาวิกโยธินบูรณะ ประกวดสิ่งประดิษฐ์จากขยะ และกิจกรรมขยะของหนูแลกของที่อยากได้ รวมถึงการนำขยะบางส่วนที่ยังใช้ได้นำกลับไปใช้ใหม่การหมุนเวียนนำขยะกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) เพื่อต้องการกำจัดขยะเก่าที่ตกค้างในพื้นที่ค่ายกรมหลวงชุมพร ที่มีจำนวนมากกว่า ๒ แสนตัน ให้หมดไป โดยสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชนที่เป็นมืออาชีพและมีประสบการณ์มาดำเนินการแก้ไข โดยแปรรูปขยะที่ตกค้างให้เป็นขยะเชื้อเพลิง (Refuse Derived -Fuel) RDF และใช้เป็นพลังงานทดแทนมีการจัดตั้งชุมชนต้นแบบในการแก้ไขปัญหาขยะและพัฒนาไปสู่ชุมชนเชิงนิเวศ การนำขยะไปทำเป็นปุ๋ยหมัก ให้สอดคล้องกับชุมชนเศรษฐกิจพอเพียง จัดตั้งศูนย์รับซื้อขยะรีไซเคิล พร้อมกับคัดแยกขยะ จัดทำองค์ความรู้(KM) วิธีการปฏิบัติที่เป็นเลิศ ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนในพื้นที่ใกล้เคียง และพัฒนาต่อยอดขยายผลการดำเนินงานตามโครงการไปยังภาคส่วนต่าง ๆ ของสังคม

จากการดำเนินการโดยใช้ระบบบำบัดขยะด้วยวิธีธรรมชาติ NBT ในการแก้ไขปัญหาขยะเก่าตกค้างที่ผ่านมา หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน สามารถลดปริมาณขยะลงได้กว่า ๗๐ เปอร์เซ็นต์ และคืนพื้นที่บ่อขยะได้มากกว่า ๑๐ ไร่ นับได้ว่าการแก้ไขปัญหาขยะตามโครงการ “นาวิกนคร 4.0 โมเดล”

ในพื้นที่ค่ายกรมหลวงชุมพร หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน นี้ถือว่าเป็นการดำเนินการแบบบูรณาการที่ได้รับความร่วมมือทั้งจากกำลังพลและครอบครัว หน่วยงานภาครัฐ และรวมถึงหน่วยงานของภาคเอกชน เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาขยะอย่างยั่งยืนโดยใช้วิธีธรรมชาติเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สามารถ

คืนความสมดุลสู่ระบบนิเวศและคืนความสุขให้กับกำลังพล และคนในชุมชนพื้นที่ใกล้เคียงได้ ด้วยความตั้งใจที่แน่วแน่ที่ต้องการให้ความเจริญในด้านต่าง ๆ ดำเนินควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อันจะนำไปสู่การพัฒนาสังคมที่ยั่งยืนสืบไป