การยิงสลุตหลวงเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในวันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ๑๒ สิงหาคม ๒๕๖๗

Release Date : 13-08-2024 15:20:52
การยิงสลุตหลวงเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในวันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ๑๒ สิงหาคม ๒๕๖๗

เมื่อวันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๖๗ พลเรือโท สมรภูมิ จันโท ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน พร้อมด้วยนายทหารสัญญาบัตร ฉก.ทม.รอ. ๙๐๔ Guard Room(ทร.)และนาวาโท เทอดเกียรติ รัตนจารุรักษ์ ผู้บังคับกองพันทหารราบที่๑ รักษาพระองค์ กรมทหารราบที่ ๑ กองพลนาวิกโยธิน ควบคุมการปฏิบัติ การยิงสลุตหลวงเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในวันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ๑๒ สิงหาคม ๒๕๖๗

วันนี้เวลา ๑๒.๐๐ นาฬิกา กองทัพเรือ โดย กองพันทหารราบที่ ๑รักษาพระองค์ กรมทหารราบที่ ๑ กองพลนาวิกโยธิน หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน ได้ทำการยิงสลุตหลวง ด้วยปืนใหญ่ขนาด ๗๖/๔๐ มิลลิเมตร จำนวน ๒๑ นัด เพื่อเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในวันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ๑๒ สิงหาคม ๒๕๖๗ ณ ป้อมวิไชยประสิทธิ์ ภายในกองบัญชาการกองทัพเรือ พระราชวังเดิม เขตบางกอกใหญ่กรุงเทพมหานคร

การยิงสลุต ถือเป็นธรรมเนียมที่ทุกประเทศทั่วโลก ได้ยึดถือสืบทอดกันมาแต่ครั้งโบราณเพื่อเป็นการแสดงความเคารพให้แก่ชาติ หรือธง หรือบุคคล โดยยิงปืนใหญ่ด้วยดินดำ หรือดินไม่มีควัน มีจำนวนนัดเป็นเกณฑ์ตามควรแก่เกียรติ หรือสิ่งที่ควรรับความเคารพ คำว่า “สลุต” นั้นมาจากรากศัพท์ของคำว่า “Salutio” ในภาษาลาติน จุดเริ่มต้นของธรรมเนียมการยิงสลุต เล่ากันว่า ในสมัยโบราณ เรือสินค้าที่ต้องเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลในระยะทางไกล จำเป็นที่จะต้องมีปืนใหญ่ไว้คุ้มครองสินค้าบนเรือ และจะต้องมีการบรรจุดินปืนในกระบอกปืนไว้ก่อน เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมเผื่อไว้ในกรณีฉุกเฉิน แต่เมื่อเรือได้เดินทางไปถึงท่าเรือของประเทศที่เรือลำดังกล่าวต้องเข้าไปทำการค้าด้วย จึงต้องยิงปืนใหญ่ที่บรรจุแต่ดินปืนออกไปให้หมด เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจว่ามาอย่างมิตร มิใช่ศัตรู ตั้งแต่นั้นมาจึงได้เกิดเป็นประเพณีการยิงสลุตขึ้น เพื่อเป็นการแสดงความเคารพต่อกันระหว่างเจ้าบ้านและผู้มาเยือนอันเป็นประเพณีที่ชาวเรือได้สืบทอดกันต่อมาจวบจนปัจจุบัน แรกเริ่มเดิมทีประเพณีการยิงสลุตได้กำหนดตัวเลขการยิงเอาไว้ที่จำนวน ๗ นัดซึ่งในขณะนั้นทางทวีปยุโรปถือว่าเป็นเลขมงคลเพราะเชื่อว่าพระเจ้าสร้างโลกใน ๗ วัน หรือเหตุผลหนึ่งที่ว่าบนเรือรบแต่ละลำมีปืนใหญ่ลำละ ๗ กระบอก จึงต้องยิงให้เคลียร์หมดทุกกระบอก ๆ ละ ๑ นัด และยังมีธรรมเนียมต่อไปอีกว่า เมื่อเรือสินค้าได้ยิงให้แก่เจ้าของจำนวน ๗ นัดแล้ว ทางป้อมปืนใหญ่ของชาติเจ้าของท่าจึงต้องยิงตอบออกมาเป็นจำนวน ๓ เท่า ซึ่งก็คือ ๒๑ นัด ในเวลาต่อมาได้มีการทำความตกลงกันใหม่ว่าควรให้ทั้งสองฝ่ายยิงในจำนวน ๒๑ นัดเท่าๆ กัน โดยอังกฤษเป็นชาติแรกในการวางกฎระเบียบการยิงสลุต ๒๑ นัด และได้ถือเป็นกติกาสากลสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน

สำหรับในประเทศไทยมีการยิงสลุตครั้งแรกในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีในบันทึกของจดหมายเหตุฝรั่งเศสกล่าวถึงเรือรบฝรั่งเศสชื่อ เลอโวตูร์ ที่ได้เดินทางเข้ามาถึงป้อมวิชเยนทร์ (ป้อมวิไชยประสิทธิ์ พระราชวังเดิม กองทัพเรือ ในปัจจุบัน) มองซิเออร์คอนูแอล กัปตันเรือ ได้มีใบบอกเข้าไปถามทางราชสำนักอยุธยาว่า จะขอยิงสลุตให้เป็นเกียรติแก่ชาติสยาม ทางราชสำนักจะขัดข้องไหม สมเด็จพระนารายณ์มหาราชจึงรับสั่งให้ออกพระศักดิ์สงคราม (มองซิเออร์คอม เดอร์ ฟอร์แบงก์ นายทหารชาวฝรั่งเศส) ผู้รักษาป้อมในขณะนั้น อนุญาตให้ฝรั่งเศสยิงสลุตได้

ต่อมาเมื่อสิ้นแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์แล้ว พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่คือ สมเด็จพระเพทราชา ทรงไม่โปรดปรานฝรั่งเศส จึงทำให้ธรรมเนียมการยิงสลุตได้ถูกยกเลิกไป ธรรมเนียมการยิงสลุตได้เริ่มกลับมารื้อฟื้นขึ้นอีกครั้งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คราวที่ต้อนรับ เซอร์จอห์น เบาวริ่ง ราชทูตอังกฤษ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๘ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๔๘

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการตราข้อบังคับว่าด้วยการยิงสลุต ร.ศ.๑๒๕ แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือการยิงสลุตหลวง และการยิงสลุตเป็นเกียรติแก่ข้าราชการ

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ตราพระราชกำหนดการยิงสลุตขึ้นใหม่ คือ การยิงสลุต ร.ศ.๑๓๑ (พ.ศ.๒๔๕๕) กำหนดให้มีจำนวนปืนไม่ต่ำกว่า ๔ กระบอก แบ่งประเภทการยิงสลุตไว้ ๓ ประเภท คือ สลุตหลวง แบ่งเป็น ๒ ชนิด คือ สลุตหลวงธรรมดา มีจำนวน ๒๑ นัด และสลุตหลวงพิเศษ มีจำนวน ๑๐๑ นัด สลุตข้าราชการ สลุตนานาชาติ

พระราชกำหนดยิงสลุต ร.ศ.๑๓๑ ได้ถูกยกเลิกไปเมื่อ พ.ศ.๒๔๘๓ จนกระทั่งเมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยุติลง ทางราชการจึงรื้อฟื้นประเพณียิงสลุตขึ้นมาใหม่เริ่มเป็นครั้งแรกในวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๙๑ เนื่องในพระราชพิธีวันเฉลิมพระชนมพรรษาของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยกำหนดข้อบังคับไว้โดยสรุปดังนี้

- กำหนดให้มีจำนวนปืนไม่ต่ำกว่า ๔ กระบอก มีขนาดลำกล้องไม่เกิน ๑๒๐ มิลลิเมตร

- ห้ามยิงตั้งแต่เวลาพระอาทิตย์ตกไปแล้วจนถึงพระอาทิตย์ขึ้น แบ่งประเภทการยิงสลุตไว้ ๓ ประเภท เช่นเดียวกับพระราชกำหนดยิงสลุต ร.ศ.๑๓๑

ส่วนหลักเกณฑ์การยิงสลุตในปัจจุบัน หากเป็นงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา งานพระราชพิธีฉัตรมงคล หรือวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือสมเด็จพระยุพราช รวมถึงงานต้อนรับพระมหากษัตริย์หรือประมุขแห่งรัฐ ยิงสลุตจำนวน ๒๑ นัด ถ้าเป็นระดับนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (ที่เป็นทหาร) ผู้บัญชาการทหารเรือ จอมพลเรือ และเอกอัครราชทูต ยิงสลุต ๑๙ นัด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (ที่เป็นพลเรือน) พลเรือเอก และเอกอัครราชทูตพิเศษ ยิงสลุต ๑๗ นัด พลเรือโท และอัครราชทูต ยิงสลุต ๑๕ นัด พลเรือตรี และราชทูต ยิงสลุต ๑๓ นัด (สามเหล่าทัพยศเท่ากัน ยิงสลุตเท่ากัน) อุปทูตยิงสลุต ๑๑ นัด กงสุลใหญ่ ยิงสลุต ๖ นัด

 

 

รูปภาพที่เกียวข้อง
การยิงสลุตหลวงเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในวันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ๑๒ สิงหาคม ๒๕๖๗
ข่าวสารที่เกี่ยวข้อง