ประวิตหน่วยงาน

Release Date : 29-03-2016 00:00:00
ประวิตหน่วยงาน

 

ประวัติของทหารพรานนาวิกโยธิน

                        ทหารพรานนาวิกโยธิน ถือกำเนิดจาก ทหารพรานของกองทัพบก เนื่องจากสถานการณ์ของประเทศไทยทางด้านชายแดนไทย – กัมพูชา ในระหว่างปี ๒๕๒๐ – ๒๕๒๑ อยู่ในภาวะล่อแหลมต่ออันตรายจากการบ่อนทำลาย การก่อความไม่สงบ ของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ จากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย โดยได้รับความร่วมมือและสนับสนุนจากพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชา เหตุการณ์ได้ทวีความรุนแรงขึ้นเป็นลำดับ อันเป็นผลกระทบกระเทือนและสั่นคลอนต่อความมั่นคงของชาติ กล่าวคือ

                                  ๑. มีการกวาดต้อนราษฎรไทยตามแนวชายแดนเข้าไปในกัมพูชา

                                  ๒. มีการผลักดันให้ราษฎรไทย ออกห่างจากแนวชายแดนไทยได้เป็นผลสำเร็จ

                                  ๓. มีการทำลายมวลชนของฝ่ายรัฐบาล และจัดตั้งมวลชนใหม่เข้ามาแทนที่

                                 ๔. การเลื่อนที่ตั้งสิ่งอำนวยความสะดวกที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์กัมพูชาเข้ามาในเขตประเทศไทย ตามเจตนารมณ์ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยกำหนดไว้คือ ยุทธศาสตร์รูปตัวแอลใหญ่ โดยมีน้ำหนักตามพื้นที่รอยต่อของกองทัพภาคที่ ๑ กับกองทัพภาคที่ ๒ และมุ่งเข้ามามีอิทธิพลเหนือพื้นที่ด้านตะวันออกของประเทศไทยบริเวณพื้นที่จังหวัดจันทบุรีและตราด ตามลำดับ

                            จากสถานการณ์ที่กล่าวมาแล้ว ถ้าหากไม่เร่งแก้ไข จะมีผลกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของประเทศตลอดจนขวัญของราษฎรตามแนวชายแดน และในเวลาเดียวกันฝ่ายตรงข้ามอาจถือโอกาสชิงความได้เปรียบในการปฏิบัติสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการก่อการร้ายหรือการรุกรานจากภายนอกประเทศ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เราจะประมาทเสียมิได้ งานสำคัญและเร่งด่วนที่จะต้องกระทำเพื่อให้เกิดความมั่นคงตามแนวชายแดนไทย - กัมพูชา ในขณะนั้นก็คือ

                                  ๑. การปิดกั้นและควบคุมชายแดน

                                  ๒. การคุ้มครองประชาชนตามแนวชายแดน

                                  ๓. การปฏิบัติการทางทหาร เพื่อทำลายฝ่ายตรงข้ามและการโต้ตอบการปฏิบัติของฝ่ายตรงข้าม

                            งานเร่งด่วนที่กล่าวมาแล้วข้างต้นนี้ แม้จะมีหน่วยงานของรัฐดำเนินการอยู่แล้วก็ตาม แต่ไม่สามารถดำเนินการได้ครอบคลุมพื้นที่รับผิดชอบ จึงจำเป็นต้องมีหน่วยงานหนึ่งเข้าดำเนินการและรับผิดชอบ

                            โครงการอาสาสมัครทหารพราน เป็นโครงการที่ถูกกำหนดและจัดตั้งขึ้น เพื่อเข้ามาดำเนินการและรับผิดชอบ นับว่าเป็นโครงการหนึ่งของกองทัพบก เหตุผลหรือวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งก็เนื่องจากสถานการณ์ภายในประเทศในขณะนั้นเป็นพื้นฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์ที่เกิดจากการปฏิบัติการของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์บริเวณชายแดนไทย – กัมพูชา ซึ่งมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นตามลำดับก่อให้เกิดความระส่ำระสายแก่ประชาชนในท้องถิ่นอย่างมาก กำลังทหารหลักที่ส่งไปปราบปรามต้องเกาะติดอยู่กับพื้นที่ ไม่สามารถถอนกำลังกลับไปฟื้นฟูหรือพักผ่อนยังแนวหลังได้ จึงเกิดแนวความคิดที่ว่าควรจะมีกำลังหน่วยหนึ่งเข้ามาแทนที่ทหารหลักและ กำลังหน่วยนั้นควรจะเป็นกำลังที่จัดจากประชาชนในท้องถิ่นนั้น ที่มีอุดมการณ์รักชาติ ตามหลักการและเหตุผลที่ว่า “ไม่มีใครทราบปัญหาที่ทำให้เกิดเงื่อนไขได้ดีเท่ากับคนในท้องถิ่นนั้น”กองทัพบก โดย พล.ต.ชวลิต ยงใจยุทธ จก.ยก.ทบ. ในฐานะ หน.ศปก.ทบ.๓๑๕ จึงพิจารณาว่าควรจะมีกำลังทหารในลักษณะเป็นหน่วยอาสาสมัครพิเศษจัดตั้งจากกำลังพลในท้องถิ่นนั้นขึ้นมา เพื่อแก้ปัญหาข้อบกพร่องดังกล่าวนี้ จึงได้จัดทำโครงการหน่วยรบนอกแบบบริเวณชายแดนไทย – กัมพูชา ขึ้น โดยได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมของผู้บัญชาการเหล่าทัพ ณ ห้องประชุมผู้บัญชาการทหารสูงสุด เมื่อ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๒๑ ให้ดำเนินการได้ เรียกว่า “โครงการชุดปฏิบัติการพิเศษทหารพรานชายแดนไทย –กัมพูชา” และโครงการดังกล่าวนี้ได้รับอนุมัติเป็นทางการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๒๑ ดังนั้นกองทัพบกจึงถือเอาวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ของทุก ๆ ปี เป็นวันคล้ายวันสถาปนาหน่วยทหารพรานเป็นประจำทุกปี

                            การดำเนินการ กองทัพบก มอบให้ ศปก.ทบ.๓๑๕ เป็นเจ้าของโครงการ โดยมีชุดควบคุมและประสานงานโครงการ ๕๑๓ (ชค.๕๑๓) เป็นหน่วยรองทำหน้าที่ควบคุมบังคับบัญชาทหารพราน ตั้งแต่ ๗ กันยายน ๒๕๒๑ สำหรับหน่วยทหารพรานได้จัดตั้งเป็นกำลังแท้จริง เมื่อ พฤศจิกายน ๒๕๒๑ ในขั้นแรกของการจัดตั้งมี ๘ กองร้อย (ทหารพรานนาวิกโยธิน เป็นกองร้อยที่ ๗ และที่ ๘)  โดยทำการจัดตั้งและทำการฝึกที่ค่ายรบพิเศษที่ ๙ อ.ปากช่อง จว.นครราชสีมา

                            จากการที่ได้จัดตั้ง และใช้หน่วยทหารพรานปฏิบัติการปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ มาตั้งแต่ ปี ๒๕๒๑ ปรากฏว่าหน่วยทหารพรานได้มีบทบาทสำคัญในการระงับยับยั้งการรุกรานและการขยายอิทธิพลของผู้ก่อ การร้ายคอมมิวนิสต์และสามารถยุติสงครามปฏิวัติได้ การต่อสู้ด้วยอาวุธได้ลดระดับลงจนเป็นที่น่าพอใจ จากนั้นกองทัพบก จึงได้มอบหมายให้หน่วยทหารพรานได้จัดทำการป้องกันประเทศตามแนวชายแดนร่วมกับ ทหารประจำการ และหน่วยทหารพรานสามารถปฏิบัติภารกิจได้เป็นอย่างดี จึงนับว่าหน่วยทหารพราน เป็นหน่วยที่จัดตั้งขึ้นโดยใช้งบประมาณน้อยมาก แต่เป็นหน่วยที่ปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความคล่องแคล่ว รวดเร็ว ในพื้นที่ปฏิบัติการ

                            ทหารพรานนาวิกโยธิน แรกจัดตั้งประมาณเดือน พฤศจิกายน ๒๕๒๑ เป็นหน่วยงานบังคับบัญชาของชุดควบคุมและประสานงานโครงการ ๕๑๓ (ชค.๕๑๓) ศูนย์ปฏิบัติการพิเศษกองทัพบก ๓๑๕ (ศปก.ทบ.๓๑๕) แต่เป็นทหารพรานในหน่วยของกองทัพเรือที่ขึ้นการควบคุมทางยุทธการกับกองกำลังด้านจันทบุรี – ตราด (กจต.) โดยมี ชค.๕๑๓ ทำหน้าที่ควบคุมบังคับบัญชาและดำเนินการในเรื่องการฝึกหัดศึกษาและด้านการส่งกำลังบำรุงทั้งหมด ทหารพราน นย. มีอยู่ ๒ กองร้อย คือ ร้อยทหารพรานที่ ๗ และ ๘ ในจำนวน ๘ กองร้อยทหารพราน ที่กองทัพบกมีอยู่ ร้อย.ทพ. ๗ ตั้งอยู่   อ.โป่งน้ำร้อน จว.จันทบุรี ขึ้นการสมทบกับ ศูนย์ปฏิบัติการพิเศษที่ ๖๑ ( ศปศ. ๖๑ ) ส่วน ร้อย.ทพ. ๘ ตั้งอยู่ที่ อ.บ่อไร่ จว.ตราด ขึ้นสมทบกับหน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินที่ ๗๒ ( ฉก.นย. ๗๒ ) ภายหลังทาง นย. ได้ส่งกำลังทหารหลักเข้ามาปราบปราม ผกค. ในเขตพื้นที่ ร้อย ทหารพรานก็ถูกส่งไปขึ้นการควบคุมทางยุทธการกับหน่วยของทหารหลักเหล่านั้นเป็นครั้งคราว เพื่อประโยชน์ในการประสานงานทางยุทธวิธี ในการปฏิบัติการ ร้อยทหารพราน นย. จะปฏิบัติการเป็นหน่วยจรยุทธ ทำการรบแบบกองโจรเคลื่อนที่ตลอดเวลาไปตามพิกัดที่กำหนด มิได้มีที่ตั้งที่แน่นอนเหมือนปัจจุบันนี้ ขณะปฏิบัติการจะได้รับการสนับสนุนเสบียงอาหาร จากหน่วยทหารหลักในพื้นที่

                            การจัดตั้งหน่วยและการฝึกหัดศึกษา เป็นหน้าที่ของ ชค. ๕๑๓ ดำเนินการจัดตั้งหน่วยโดยสรรหาประชาชนในพื้นที่เข้ารับการฝึกหัดศึกษา ที่ค่ายรบพิเศษที่ ๙ อ.ปากช่อง จว.นครราชสีมา เป็นเวลา ๔๕ วัน และเมื่อสำเร็จการฝึกแล้วจึงส่งมอบกำลังให้กับ ร้อยทหารพราน นย. นอกจากนี้ยังรับกำลังพลจาก ร้อยทหารพราน นย. เข้าฝึกฟื้นฟูในวงรอบ ๑ ปี เป็นจำนวน ๔๕ วัน อีกด้วย  ภายหลังได้ย้ายมารับการฝึกที่ ค่ายปักธงชัย   อ.ปักธงชัย จว.นครราชสีมา

                            สถานะของอาสาสมัครทหารพราน มีฐานะเป็นพลอาสาพิเศษ และเป็นกำลังพลประเภท ๑ ของ กอ.รมน. ถ้าเปรียบเทียบทางด้านแรงงานจะเป็น “ลูกจ้างแรงงาน” ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เมื่อมีผู้ใดกระทำความผิด ผบ.ร้อย. ก็จะตักเตือนก่อน ถ้ายังไม่ดีขึ้น ผบ.ร้อย มีสิทธิปลดหรือไล่ออก ส่วนตัว อส.ทพ. เองก็มีสิทธิลาออกได้ตลอดเวลา สำหรับคนที่มีความผิดและถูกปลดหรือไล่ออกก็จะไม่รับสมัครเข้าเป็น อส.ทพ. ใหม่อีก ส่วนเจ้าหน้าที่โครงที่เป็นข้าราชการนั้น  ก็จะได้รับบำเหน็จความชอบเป็นเงินเพิ่มพิเศษสำหรับการสู้รบ ( พ.ส.ร. ) คนละ ๒ ชั้น

                            การพัฒนาของทหารพราน นย. ในปี ๒๕๒๒ ทร. ได้รับทหารพรานจาก ทบ. เพิ่มอีกกองร้อย คือ ร้อย.ทพ.นย. ที่ ๒๘ เข้าปฏิบัติการที่ อ.คลองใหญ่ จว.ตราด และ ร้อย.ทพ.นย. ที่ ๒๙ ปฏิบัติการที่ อ.โป่งน้ำร้อน จว.จันทบุรี    นอกจากนี้ ทาง ทร.   โดยความริเริ่มของ กปช.จต.   ได้ขอเพิ่มกองร้อยทหารพราน ต่อ ทบ.  อีก ๒ กองร้อย เพื่อใช้ในการปราบปราม ผกค.    ในเขต  กิ่ง อ.แก่งหางแมว  อ.ท่าใหม่ จว.จันทบุรี    และ ตำบลจันเขลม อ.มะขาม จว.จันทบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่รอยต่อระหว่าง   จว.จันทบุรี - ปราจีนบุรี และ จว. ฉะเชิงเทรา

                            เมื่อ ทร. มีทหารพราน ๔ กองร้อยแล้ว ทาง ศปก.ทบ. ๓๑๕ โดยการดำเนินการของ ชค. ๕๑๓ ได้กำหนดให้หน่วยทหารของ ทบ. และ ทร.มีฐานะเป็น กรม คือ กรม ทพ. ๑ ( ของ ทภ.๑ ) - กรม ทพ. ๒ ( ของ ทภ.๒ ) กรม ทพ.๙ ( กองหนุนทั่วไปของ ทบ. ) และ กรม ทพ.นย. และได้เปลี่ยนหมายเลขกองร้อยเป็นเลข ๓ ตัว ใน ขณะนี้มี กรม ทพ. อยู่ด้วยกันทั้งหมด ๔ กรม โดยกรม ทพ. ๑ (ใช้หมายเลข ๑ นำหน้า) กรม ทพ. ๒ ( ใช้หมายเลข ๒ นำหน้า ) กรม ทพ. ๙ ( ใช้หมายเลข ๙ นำหน้า ) และ กร ทพ.นย. (ใช้หมายเลข ๔ นำหน้า) ทั้ง ๔ กองร้อย จึงมีหมายเลขดังนี้ ร้อย.ทพ.นย. ๔๐๗, ร้อย.ทพ.นย. ๔๐๘, ร้อย.ทพ.นย. ๔๒๘, ร้อย.ทพ.นย. ๔๒๙ ต่อมาภายหลัง หน่วยทหารพรานได้เพิ่มขึ้นเป็น ๕ หน่วย ( กองทัพภาคละ ๑ หน่วย ) ของ ทร. ๑ หน่วย ดังนั้น ร้อย.ทพ.นย.จึงเปลี่ยนมาขึ้นต้นด้วยหมายเลข ๕ เช่น ร้อย.ทพ.นย. ๕๑๕ หมายถึง เป็นกองร้อยที่ ๕   ชุดควบคุมทหารพรานที่ ๑ และอยู่หน่วยลำดับทหารพรานที่ ๕ ของกองทัพไทย

                            กรม ทพ.นย. นั้น มี ผบ.กรม.ทพ.นย. คือ น.ต.ทวี ธรรมจิรา ( ปัจจุบัน คือ น.อ.ทวีชัย ธรรมจิรา ) ขณะนั้นขึ้นการควบคุมทางยุทธการกับ กจต.

                            ในปี ๒๕๒๓ ทร. ได้รับทหารพรานเพิ่มมาอีก ๒ กองร้อย คือ ร้อย.ทพ.นย.ที่ ๔๒ ปฏิบัติงานในท้องที่ กิ่ง อ.แก่งหางแมว อ.ท่าใหม่ จว.จันทบุรี และ ร้อย.ทพ.นย. ที่ ๔๓ ปฏิบัติงานในพื้นที่ บ.จันเขลม อ.มะขาม จว.จันทบุรี ในขณะที่ ทหารพราน นย. ได้มีกำลัง ๖ กองร้อย และมีฐานะเป็น กรม ทพ.นย. ทาง ทบ. ก็มีแนว ความคิดที่จะโอนการบังคับบัญชาทหารพรานในส่วนของ ทร. ให้ ทร. ดำเนินการบังคับบัญชารับผิดชอบเอง ตามบันทึกการประชุม เรื่องการส่งมอบทหารพรานให้ ทภ. และ ทร. ณ ห้องประชุม ศปก.ทบ. เมื่อ ๒๒ ส.ค. ๒๓ ต่อมา ผบ. ทหารสูงสุด ได้สั่งการเมื่อ ๑ ก.ย.๒๓ ให้ ทบ. ( ศปก.ทบ. ๓๑๕ ) สั่งมอบหน่วยทหารพรานนาวิกโยธิน ตามโครงการในความรับผิดชอบของ ทบ. ( ศปก.ทบ. ๓๑๕ ) ให้ ทร. ( ศปก.ทร. ) รับผิดชอบต่อไป และให้ส่งมอบให้แล้วเสร็จ ภายใน   ๓๐ ก.ย.๒๓ ( ทหารพรานนาวิกโยธิน จึงถือเอา วันที่ ๑ กันยายน ของทุกๆปี เป็นวันคล้ายวันสถาปนาทหารพรานนาวิกโยธิน) ต่อมา ทร. ได้มอบหน่วยทหารพรานนาวิกโยธินให้ นย. จัดตั้งและบรรจุกำลังพลหน่วยเฉพาะกิจทหารพรานนาวิกโยธิน (ฉก.ทพ.นย.) โดยให้เป็นหน่วยขึ้นตรงของ นย. ส่งมอบ ฉก.ทพ.นย ขึ้นการควบคุมทางยุทธการกับ กปช.จต. ต่อไป

                            ทร. ได้จัดตั้งหน่วยสำหรับดำเนินการควบคุมหน่วยทหารพรานขึ้นมาชุดหนึ่ง เรียกว่า ชุดควบคุมทหารพรานกองทัพเรือ(ชค.ทพ.ทร.) มี น.อ.พานิช นัยนานนท์ เป็น หน.ชค.ทพ.ทร. เมื่อ ทร. ได้โอนการควบคุมการบังคับบัญชาหน่วยทหารพรานให้กับ นย. หน่วยจึงเปลี่ยนชื่อเป็น   ชุดควบคุมทหารพรานกรมนาวิกโยธิน (ชุดควบคุมทหารพราน นย.)

                            ต่อมา ศปก.ทบ. ๓๑๕ พิจารณาเห็นว่าโครงสร้างการบังคับบัญชา และการเรียกนามหน่วยตามที่ ทบ. และ กปช.จต. กำหนดไว้เดิมนั้น ยังมิได้เป็นมาตรฐานเดียวกัน จึงได้เชิญผู้แทนหน่วยเกี่ยวข้องไปประชุมปรึกษา หารือการจัด โครงสร้างการควบคุมการบังคับบัญชาและการเรียกนามหน่วยทหารพรานเสียใหม่ เป็นมาตรฐานเดียวกัน ในส่วนของ ทหารพราน ทร. “ชุดควบคุมทหารพรานนาวิกโยธิน เปลี่ยนเป็น หน่วยเฉพาะกิจทหารพรานนาวิกโยธิน (ฉก.ทพ.นย.) มีกำลังในกองบังคับการประกอบด้วย น.๘ ป.๘ อส.ทพ. ๘ รวม ๒๔ นาย จัดตั้งชุดควบคุมทหารพรานเพื่อควบคุมร้อย.ทพ.นย. ให้ชื่อว่า ชุดควบคุมทหารพรานนาวิกโยธิน (ชค.ทพ.นย.) แทนชื่อเดิม (กรม ทพ.นย.)

                            แรกที่จัดตั้งเป็น ฉก.ทพ.นย. ที่ตั้ง บก.ฉก.ทพ.นย. ตั้งอยู่ที่อาคาร ร้อย.บก.พัน.ร. ๒ ผส.นย. (อาคารเทวาพิทักษ์) ในค่ายตากสิน ต่อมาจึงได้ย้ายที่ทำการใหม่ คือ อาคาร พัน.ป.กจต. บ.คลองตาคง ต.ทับไทร อ.โป่งน้ำร้อน จว.จันทบุรี ซึ่งเป็นที่ตั้งปัจจุบันในขณะนี้ มีหน่วยในบังคับบัญชาที่ขึ้นตรงอยู่ ๒ หน่วย คือ ชค.ทพ.นย.๑ ตั้งอยู่ ณ ศปศ. ๖๑ มีกองร้อยในการบังคับบัญชา ๓ กองร้อย และ ร้อย.ทพ.นย. ๒ ตั้งอยู่  ณ อ. บ่อไร่ จว.ตราด มีกองร้อยอยู่ในความบังคับบัญชา ๓ กองร้อย

                            หลังจากที่ ทบ. ได้โอนการบังคับบัญชาทหารพรานในส่วนของ ทร. ให้กับ ทร. แล้ว ทบ. (ศปก.

ทบ. ๓๑๕) ก็ยังคงได้รับการสนับสนุนและรับผิดชอบในเรื่องของการฝึกการจัดตั้งการส่งกำลังบำรุงและดำเนิน การในเรื่องสิทธิกำลังพลให้กับ ฉก.ทพ.นย. เรื่อยมาจนกระทั่ง ได้จัดตั้งส่วนการฝึกและศึกษา ฉก.ทพ.นย. ขึ้น ใน ตุลาคม ๒๕๒๘ ดังนั้นในเรื่องการจัดตั้งหน่วยใหม่และการฝึกทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นการฝึกทดแทนกำลัง (อส.ทพ. นย.ใหม่) และการฝึกฟื้นฟู (อส.ทพ.เก่า) ฉก.ทพ.นย.สามารถดำเนินการได้เอง เว้นแต่ในเรื่องการส่งกำลังบำรุง ทาง ศปก.ทบ.๓๑๕ ยังคงสนับสนุนให้อยู่ ต่อมาภายหลัง ศปก.ทบ. ๓๑๕ จึงโอนงบประมาณในส่วนที่เกี่ยวกับทหารพราน นย. ให้กับ ทร. ทั้งหมด จึงถือได้ว่า ฉก.ทพ.นย. ได้ดำเนินการในส่วนต่างๆ ได้ด้วยตนเองและเป็นอิสระตั้งแต่นั้นมา

                            ส่วนการฝึกและศึกษา ฯ ได้ทำการฝึกทดแทน อส.ทพ.ใหม่ ๖ กองร้อย เมื่อเสร็จสิ้นการฝึกแล้วจึงทำให้ ฉก.ทพ.นย. มีกำลังพลทั้งหมดเป็น ๑๒ กองร้อย และ ชค.ทพ.นย. ๔ จำนวน ๖กองร้อย เพื่อเข้าปฏิบัติหน้าที่ และรับผิดชอบภารกิจแทนกำลังทหารกองประจำหารที่จะต้องถอนตัวออกไปเพื่อกลับที่ตั้งปกติ เพราะสถานการณ์ในขณะนั้นลดความตึงเครียดลง ประกอบกับผู้บังคับบัญชาชั้นสูง เห็นว่าทหารพรานสามารถปฏิบัติหน้าที่นี้ได้เกือบเท่าทหารหลัก แต่สิ้นเปลืองงบประมาณน้อยกว่า การจัดตั้งกองร้อยใหม่ได้ดำเนินการ เป็น ๓ ระยะ   ดังนี้

                            จัดตั้ง ชค.ทพ.นย. ๓ ฯ และ ร้อย.ทพ.นย. ๕๑๓ - ๕๑๖ ใน เมษายน ๒๕๒๕ ร้อย.ทพ.นย. ๕๑๗ – ๕๒๐ ใน มิถุนายน ๒๕๒๕ และจัดตั้ง ชค.ทพ.นย. ๔ กับ ร้อย.ทพ.นย. ๕๒๑ – ๕๒๔ ใน สิงหาคม ๒๕๒๕

                            เดิมเครื่องแบบทหารพราน นย. ใช้เครื่องแบบชุดพรางของทหารนาวิกโยธิน แต่สวมหมวกบาเร่ต์สีพราง ในวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๒๕ ในสมัยที่ น.อ.มนู เรืองฉาย เป็น ผบ.ฉก.ทพ.นย. ได้เปลี่ยนเครื่องแบบทหารพราน นย.มาเป็นเครื่องแบบสีดำ เช่นเดียวกับทหารพรานของ กองทัพบก แต่ยังคงใช้หมวกบาเร่ต์สีพราง เพื่อเป็นเอกลักษณ์ของทหารพราน นย.

                            ในปี ๒๕๒๖ สมัยที่ น.อ. สุมิตร ชื่นมนุษย์ ( ยศในขณะนั้น ) เป็น ผบ.ฉก.ทพ.นย.   ได้เสนอขอปรับปรุงและเพิ่มอัตราทหารพราน นย. และขอเปลี่ยนนามหน่วยจาก ฉก.ทพ.นย. เป็น กรมทหารพรานนาวิกโยธิน (เท่ากับ ๑ กรม ร. มี ๔ กองพัน และเพิ่มส่วนยิงสนับสนุน ซึ่งมี ๔ มว.อาวุธสนับสนุน ผบ.กรม มียศเป็น น.อ.พิเศษ) แต่ไม่ได้รับอนุมัติ

                            ในปี ๒๕๒๗ สมัยที่ น.อ.ตรีรัตน์ ชมะนันท์ ( ยศในขณะนั้น ) เป็น ผบ.ฉก.ทพ.นย. ได้เสนอขอปรับปรุงและเพิ่มอัตรา ฉก.ทพ.นย. เป็น กกล.อส.ฉก.ทพ.นย. เพื่อให้เทียบเท่ากับอัตราการจัดทหารพราน ของ ทบ. และมีหน่วยรอง เป็น กรม ทพ.นย. ( แทน ชค.ทพ.นย.) กับหน่วยสนับสนุนทางการช่วยรบแต่ไม่ได้รับอนุมัติ

                            ๑ ธันวาคม ๒๕๒๗ ได้จัดตั้งส่วนยิงสนับสนุน เพื่อทำหน้าที่เป็นกำลังอาวุธสนับสนุนให้แก่ บก.ฉก.ทพ.นย., ส่วนการฝึกและศึกษา ฯ และ ชค.ทพ.นย. โดยมี ๑ อาวุธสนับสนุน  ไปขึ้นสมทบกับ บก.ชค.ทพ.นย. ทั้ง ๔ ชค.ทพ.นย. นอกจากนี้ยังได้รับการบรรจุเจ้าหน้าที่โครงสายการแพทย์ให้ ฉก.ทพ.นย. ซึ่งไม่เคยได้รับการบรรจุมาก่อนเลย

                            ในปี ๒๕๒๙ ได้รับทหารพรานเพิ่มมาอีก ๒ กองร้อย (รวมมีทั้งหมด ๒๖ กองร้อย) ไว้เสริมกำลังทางด้านใต้ของ อ.โป่งน้ำร้อน จว.จันทบุรี ต่อกับทางด้านเหนือของ อ.บ่อไร่ จว.ตราด ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เป็นป่าทึบเหมาะสำหรับในการวางกำลังเพื่อเฝ้าตรวจ ลว.หาข่าว ป้องกัน ขัดขวาง ยับยั้งและผลักดันการรุกล้ำอธิปไตยของชาติ จากฝ่ายตรงข้ามร่วมกับทหารประจำการ นอกจากนี้ยังถูกใช้เป็นหน่วยที่ป้องกันและปราบปรามการกะทำผิดกฎหมาย เช่น ป่าไม้ เหมืองแร่ และการลักลอบค้าขายข้ามแดนสิ่งของที่ผิดกฎหมายรวมทั้งอาวุธสงคราม

                            ในปี ๒๕๓๒ สมัยที่ น.อ. มานิตย์ ดีมาก เป็น ผบ.ฉก.ทพ.นย. ได้เสนอขอปรับกำลังทหารพราน นย. ขึ้นใหม่อีก โดยปรับ ชค.ทพ.นย. เป็น กรม ทพ.นย. เปลี่ยน ฉก.ทพ.นย. เป็น กกล.ทพ.นย. และปรับอัตรา ร้อย. ทพ.นย. ให้เหมือนกับ ร้อย.ทพ.นย. โดยการเพิ่มกำลังพลจากเดิม กองร้อยละ น. ๑ ป. ๔ อส.ทพ. ๘๐ เท่ากับ ๘๕ นาย เป็น น.๒ ป.๑๔ อส.ทพ.นย. ๗๔ เท่ากับ ๙๐ นาย เพื่อสอดคล้องกับ ทพ.ทบ. ส่วนการจัดหน่วยยังคงเป็นหน่วยเฉพาะกิจเช่นเดิม และจะดำเนินการขอปรับเป็นอัตราปกติประจำต่อไป

                            (เมื่อปี งบประมาณ ๒๕๒๔ ศปก.ทบ. ได้ขอความคิดเห็นมายัง ทร. เกี่ยวกับโครงการทหารพรานหญิง เพื่อปฏิบัติหน้าที่ทางด้านการเมือง ครูช่วยสอน ผู้ช่วยพยาบาล หรือ จนท.ปจว. และปฏิบัติหน้าที่บางประการ ที่ไม่สามารถใช้ ทพ.ชาย ซึ่ง ทร. ได้ให้ความเห็นชอบในโครงการทหารพรานหญิง แต่ นย. ซึ่งเป็นหน่วยใช้ มีความเห็นว่ายังไม่มีความจำเป็น ดังนั้นการจัดตั้งทหารพรานหญิง ในส่วนของ ทร. (นย.) จึงให้ระงับไว้ก่อน ต่อมาในปี งป.๒๕๓๒ นย. ได้เสนอ ทร. ขอจัดตั้ง   ทพ.นย. หญิง แต่ยังไม่ได้รับการพิจารณา)

                            และจนในปี งบประมาณ ๒๕๔๕ จึงได้รับอนุมัติจาก ทร. ให้บรรจุทหารพรานหญิง จำนวน ๑๒ อัตรา เพื่อปฏิบัติงานด้านธุรการ การตรวจค้นยาเสพติด ปฏิบัติการด้านจิตวิทยา ผู้ช่วยพยาบาล และปฏิบัติหน้าที่บางประการที่ที่ อส.ทพ.ชายไม่สามารถทำได้ ปัจจุบันทหารพรานนาวิกโยธิน มีจำนวน ๒๖ กองร้อย

*********************************************************************************************************************************************