ประวัติกองพันรถถัง กองพลนาวิกโยธิน หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน

Release Date : 02-11-2021 14:57:29
ประวัติกองพันรถถัง กองพลนาวิกโยธิน หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน

    กองพันรถถัง กองพลนาวิกโยธิน หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน เป็นหน่วยระดับกองพันขึ้นตรงต่อกองพลนาวิกโยธิน ให้จัดตั้งขึ้นเมื่อ ๑ เม.ย.๓๙ ตาม อจย. ๒๒ – ๑๑ เป็นหน่วยระดับกองพันขึ้นตรงต่อกองพลนาวิกโยธิน และได้รับการบรรจุกำลังพลครั้งแรก ตามคำสั่งกองทัพเรือที่ ๙๓ /๒๕๓๙ ลง ๒๙ พ.ค.๓๙ และคำสั่งหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน ที่ ๔๒/๒๕๓๙ ลง ๑๔ พ.ค.๓๙ ตามลำดับ จึงยึดถือเอาวันที่ ๒๙ พ.ค. ของทุกปีเป็นวันสถาปนาหน่วย กำลังพลของหน่วยที่ได้รับบรรจุครั้งแรก ทร. ได้ส่งเข้ารับการอบรมจาก ทบ. ให้ได้รับความรู้และมีประสบการณ์เกี่ยวกับหน่วยรถถัง โดยเข้ารับการอบรมด้านวิชาการที่ โรงเรียนทหารม้า ศูนย์การทหารม้า ค่ายอดิศร จว.สระบุรี และฝึกอบรมด้านยุทธวิธีที่ พล.ม.๑ ค่ายพ่อขุนผาเมือง จว.เพชรบูรณ์ เมื่อจบการศึกษาอบรม ได้ขอยืมรถถังกลาง ๓๒ (T ๖๙ – ๒) จำนวน ๕ คัน จากกองทัพบก   เพื่อมาฝึกหัดศึกษา กองพันรถถัง ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทานธงชัยเฉลิมพล ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๙ ต่อมาใน ปี ๒๕๕๕ ได้ปรับโครงสร้างหน่วยใหม่ ประกอบด้วย กองบังคับการกองพัน กองร้อยกองบังคับการ ๑ กองร้อยรถถัง ๑ กองร้อยรถยานเกราะล้อยาง และ ๑ กองร้อยต่อสู้รถถัง มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ วันที่ ๑๖ พ.ย.๕๔

ได้รับพระราชทานธงชัยเฉลิมพล เมื่อวันที่๘พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๙

ณ  พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และบริเวณสนามหลัง วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

 

 

คำขวัญหน่วย   

แน่นอน รวดเร็ว รุนแรง  

 

 

ภารกิจ

              เข้าประชิดและทำลายกำลังข้าศึก โดยใช้อำนาจการยิง การดำเนินกลยุทธ์ และอำนาจทำลายข่มขวัญ รวมทั้งปฏิบัติการรบร่วมกับทหารเหล่าอื่น

ขีดความสามารถ

      1. ปฏิบัติการรบโดยใช้อำนาจการยิง ความคล่องแคล่วในการเคลื่อนที่ มีเกราะป้องกันตัว
มีอำนาจทำลาย และข่มขวัญสูง

      2. เข้าตี หรือตีโต้ตอบภายใต้อำนาจการยิงของข้าศึก

      3. ทำลายยานเกราะของข้าศึกด้วยการยิง

      4. สนับสนุนหน่วยทหารราบยานยนต์ ทหารราบ ด้วยการยิง การดำเนินกลยุทธ์ และอำนาจทำลาย และข่มขวัญ

      5. ขยายผลแห่งความมีชัยหลังการเจาะแนวของข้าศึก โดยใช้ความคล่องแคล่วในการเคลื่อนที่ในภูมิประเทศได้อย่างสูง

      6. ทำการยิงสนับสนุนด้วยอาวุธในอัตราของหน่วย

      7. ดำเนินการทางธุรการ การส่งกำลัง การติดต่อสื่อสาร และการซ่อมบำรุงได้สมบูรณ์ในกองพันรถถังเอง

      8. เคลื่อนที่ด้วยยานพาหนะในอัตราได้ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์

 

สัญลักษณ์หน่วย

 

     กำหนดเป็นรูปรถถังล้อมรอบด้วยสายพานและเฟืองขับสายพาน มีนามหน่วยสีแดง ด้านล่างบนแถบหางแซงแซว บนเส้นหลักการรุก ด้านล่างเป็นลูกศรขนาดเล็ก ล้อมรอบด้วยสายพาน เฟืองขับสายพานของรถตีนตะขาบ อันมีความหมาย ดังนี้

          - รถถัง หมายถึง หน่วยทหารที่มีรถถังในการปฏิบัติหน้าที่ และแสดงถึงความเข้มแข็ง ความแข็งแกร่ง และอำนาจที่น่าเกรงขาม

          - สีฟ้าหม่น เป็นสีสากลของหน่วยทหารม้าทั่วไป

          - แถบสีเหลืองและสีแดง หมายถึง ความเป็นทหารนาวิกโยธิน สามารถปฏิบัติงานได้ทั้งในน้ำและบนบก

          - ลูกศรใหญ่ หมายถึง เส้นหลักการรุก เป็นการแสดงออกถึงความสามัคคี ของกำลังพลและการใช้ยุทโธปกรณ์ ของหน่วยที่พร้อมจะรุกเข้าสู้พื้นที่ปฏิบัติการ

          - ลูกศรเล็ก หมายถึง  อาวุธที่มีอานุภาพ ทำลายกำลังรบของข้าศึกได้อย่างเด็ดขาด

          - กรอบรูปฟันเฟือง ขับสายพาน กับน็อตทุกตัว หมายถึง กำลังพลในกองพันรถถัง มีความสามัคคี เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน มีความรักให้ความสำคัญแก่อาวุธยุทโธปกรณ์ที่มีอยู่ในหน่วย