ยุทธการสามชัย
 
บทบาทในการปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ โจรก่อการร้ายและโจรคอมมิวนิสต์มลายู
 

กำเนิดผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย

      ก่อนจะกล่าวถึงบทบาทของทหารนาวิกโยธิน ในการปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ (ผกค.) นั้น ควรจะได้ทราบถึงความเป็นมาโดยสังเขปของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ในประเทศไทยเสียก่อน

      วัตถุประสงค์ของลัทธิคอมมิวนิสต์คือ การล้มล้างการปกครองแบบระบอบประชาธิปไตยของประเทศต่าง ๆ ให้หมดสิ้น แล้วเปลี่ยนเป็นระบบสังคมนิยมแบบคอมมิวนิสต์ การจะที่จะบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว คอมมิวนิสต์ต้อง ได้รับการ สนับสนุนจากประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศเหล่านั้น พร้อมกับการใช้กำลังถืออาวุธเข้าโค่นล้มรัฐบาล

      ประมาณปี พ.ศ.๒๔๗๐ พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้นำลัทธิเข้ามาเผยแพร่ในกลุ่มคนจีนในประเทศไทย

       พ.ศ.๒๔๗๑ โฮจิมินห์ ได้ตั้งสำนักงานกู้เอกราชขึ้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย เพื่อนำชาวญวนให้ทำการกู้อิสรภาพจากฝรั่งเศส

       พ.ศ.๒๔๗๖ รัฐบาลไทยประกาศใช้ พระราชบัญญัติว่าด้วยคอมมิวนิสต์ พ.ศ.๒๔๗๖

       ๑ ธันวาคม ๒๔๘๕ คอมมิวนิสต์ ได้ประกาศจัดตั้งพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) อย่างเปิดเผย

       ๑๒ ธันวาคม ๒๔๘๘ รัฐบาลไทยยกเลิกพระราชบัญญัติว่าด้วยคอมมิวนิสต์ เพื่อแลกเปลี่ยนเสียงสนับสนุน จากบรรดา ประเทศสมาชิกเพราะประเทศไทยต้องการเข้าเป็นสมาขิกขององค์การสหประชาชาติ ดังนั้น พคท.จึงสามารถ เผยแพร่ ลัทธิคอมมิวนิสต์ได้อย่างเปิดเผยอีกครั้งหนึ่ง

       พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๙๕ รัฐบาลไทยได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ.๒๔๙๕ และดำเนินการจับกุมอย่างเฉียบขาด ทำให้ พคท.ต้องดำเนินการอย่างปกปิดอีกครั้งหนึ่ง

       พ.ศ.๒๕๐๘ พคท.ได้ปะทะกับเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๐๘ ที่บ้านนาบัว ตำบลเรณูนคร อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม เป็นการลั่นกระสุนนัดแรกของคอมมิวนิสต์ขึ้นในประเทศไทย พคท.จึงถือเอาวันที่ ๗ สิงหาคม ของทุกทุกปีเป็น “ วันปืนแตก ” ของคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย

       ๑๗ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๐๘ รัฐบาลไทยได้จัดตั้งกองบัญชาการป้องกันและปราบปรามคอมมิวนิสต์ (บก.ปค.) ขึ้น ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) และได้ใช้ชื่อนี้มาจนถึงปัจจุบัน

 

การปฏิบัติงานของ พคท.ในภาคต่าง ๆ ของประเทศไทย

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

      คอมมิวนิสต์ได้เริ่มเคลื่อนไหวทำการโฆษณาเพื่อหาสมาชิกตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๙๐ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในจังหวัด หนองคาย นครพนม สกลนคร อุดรธานี เลย อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด ขอนแก่น และกาฬสินธ์ รวม ๙ จังหวัด มีกำลังคอมมิวนิสต์ถืออาวุธประมาณ ๑,๕๐๐ – ๒,๐๐๐ คน ตั้งฐานปฏิบัติการอยู่บริเวณเทือกเขาภูพาน (ที่ทอดผ่านจังหวัดนครพนม สกลนคร และอุดรธานี) และบริเวณตอนใต้ของจังหวัดอุบลราชธานี

ภาคเหนือ

      ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๙๔ เป็นต้นมา พคท.ได้ส่งสมาชิกเข้าแทรกซึมชาวเขา โดยยุยงชาวเขาเผ่าต่าง ๆ โดยเฉพาะเผ่าแม้วให้เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาล ในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๔๑๐ คอมมิวนิสต์ได้ร่วมกับชาวเขาที่เป็นสมาชิกเริ่มใช้กำลังที่ถืออาวุธเข้าต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐบาล คอมมิวนิสต์ได้ตั้งฐานปฏิบัติการในจังหวัดเชียงราย น่าน และในบริเวณภูหินร่องกล้า ซึ่งเป็นรอยต่อสามจังหวัดพิษณุโลก เพชรบูรณ์ และเลย มีกำลัง ผกค.ถืออาวุธประมาณ ๑,๓๐๐ ถึง ๑,๕๐๐ คน

ภาคกลาง

      ผกค.ได้เริ่มก่อตัวในปี พ.ศ.๒๔๙๗ ที่อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี ได้บุกเบิกอย่างจริงจังในปี ๒๕๐๓ – ๒๕๐๔ ส่วนการเคลื่อนไหวต่อสู้ด้วยอาวุธของ พคท.ได้เริ่มครั้งแรกเมื่อปี ๒๕๐๘ ได้ใช้กำลังเข้าต่อสู้ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ราชบุรี และเพชรบุรี ตามลำดับ มี ผกค.ประมาณ ๒๐๐ คน ปฏิบัติการอยู่ในภาคนี้โดยเคลื่อนไหวอยู่ตามพื้นที่ชายแดน ที่ติดต่อกับประเทศพม่า สำหรับจังหวัดจันทบุรี เริ่มมี ผกค.เข้ามาปลุกระดมมวลชนและทำร้ายเจ้าหน้าที่กับราษฎร์ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ๒๕๒๐ มีแนวโน้มว่าจะรุนแรงยิ่งขึ้นทุกขณะ ทางด้านจังหวัดตราด เริ่มมี ผกค.คุกคามตั้งแต่ เดือน ตุลาคม ๒๕๒๐ เป็นต้นมา ผกค.จึงได้เริ่มปลุกระดมมวลชนใน กิ่งอำเภอบ่อไร่ แต่ปรากฏว่าราษฎร ในพื้นที่ไม่ ยอมให้ความมือ ผกค.จึงได้เพิ่มปฏิบัติการทางทหารรุนแรงยิ่งขึ้น ด้วยการซุ่มโจมตีราษฎรและเจ้าหน้าที่ ก่อวินาศกรรม วางกับระเบิด และกวาดต้อนราษฎรไปอบรมลักทธิคอมมิวนิสต์ที่จังหวัดไพลินกัมพูชา เมื่อวันที่ ๑๕ เมษายน พ.ศ.๒๕๒๑ ผกค.ได้โจมตีฐานปฏิบัติการของ นปพ.ที่บ้านปะอา กิ่งอำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด

ภาคใต้

      พคท.ได้ส่งสมาชิกไปปฏิบัติการทางภาคใต้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๙๗ ที่บ้านเขาเจียก จังหวัดพัทลุง และขยายงานออกไปจังหวัดสุราษฎร์ธานี ตรัง สตูล นครศรีธรรมราช และสงขลา สำหรับพื้นที่ภาคใต้ที่ติดต่อกับประเทศมาเลเซียนั้นมี จคม.อยู่ประมาณ ๒,๐๐๐ คน ทำการแทรกซึมตามแนวชายแดนของทั้งสองประเทศ และต่อสู้ด้วยอาวุธอย่างรุนแรง ในเขตจังหวัดนราธิวาส ยะลา ปัตตานี และสงขลา จคม.เหล่านี้มีการดำเนินงานสัมพันธ์กับกลุ่ม ขจก.ซึ่งเป็นขบวนการแบ่งแยกดินแดน ๔ จังหวัดและสมาชิก พคท.ด้วย

 
นย.เริ่มฝึกการปราบปราม ผกค.
 

      เนื่องจากความเคลื่อนไหวของ ผกค.ในทุกภาคของประเทศไทยดังกล่าว ประมาณ พ.ศ.๒๕๐๐ นย.จึงเริ่มปรับปรุง หลักสูตรการเรียนและการฝึกต่าง ๆ เน้นหนักในเรื่องการปราบปราม ผกค. นอกจากนี้ยังส่งข้าราชการทั้งสัญญาบัตรและชั้นประทวนไปศึกษาหลักสูตร COUNTER INSURGENCY ที่ โอกินาวา ประเทศญี่ปุ่น และหลักสูตร JUNGLE WARFARE ของอังกฤษที่มาเลเซีย อีกด้วย

      ได้ฝึกร่วมกับต่างชาติเกี่ยวกับการปราบปราม ผกค.หลายครั้ง เช่น การฝึก TEAM WORK II บริเวณจังหวัดระยอง ในปี ๒๕๐๑ โดย นย.ได้จัดกำลัง ๑ หมวด, นย.สหรัฐฯ ๑ หมวด และคอมมาโดของอังกฤษ จากสิงคโปร์ ๑ หมวด

      ฝึก JUNGLE DRUM I ในการปราบปราม ผกค.กับ นย.สหรัฐฯ ฝ่ายละ ๑ กองร้อย บริเวณเขาตะเภาคว่ำ จังหวัดระยอง เมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๐๔

      นอกจากนี้ นย.ยังได้ฝึกของตนเองเกี่ยวกับการปราบปราม ผกค.ครั้งใหญ่ ๆ อีกหลายครั้ง เช่น ฝึกกิตติ ๐๗ ปี ๒๕๐๗ ที่จังหวัดระยอง ฝึกแอร์บุญชู ที่จังหวัดจันทบุรี ปี ๒๕๐๘

      ทร.เริ่มฝึกการปราบปราม ผกค.ในจังหวัดภาคใต้ครั้งแรกในปี ๒๕๑๐ เป็นลักษณะการฝึกร่วมระหว่างกองทัพเรือและ กองทัพอากาศ โดยกองทัพบกส่งผู้สังเกตการณ์ในการฝึก เรียกการฝึกครั้งนี้ว่า “การฝึกทักษิณ ๑๐” เป็นการฝึก ยกพลขึ้นบกด้วยกำลัง ๑ กองพันผสมยกพลขึ้นบก ที่จังหวัดนราธิวาส สนับสนุนด้วยเครื่องบิน และผู้ควบคุม อากาศ ยานหน้าจากกองทัพอากาศ หลังจากยกพลขึ้นบกแล้วดำเนินกลยุทธต่อไปบนบกด้วยการฝึกปราบปราม ผกค.เป็นเวลาประมาณ ๒ สัปดาห์

      การฝึกทักษิณยังดำเนินการต่อไปเช่นนี้อีก ๒ ครั้ง คือ ทักษิณ ๑๒ และการฝึกทักษิณ ๑๓ สำหรับการฝึกทักษิณ ๑๒ นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จทอดพระเนตรด้วย เมื่อเดือนสิงหาคม ๒๕๑๒ ที่หาดบ้านทอน อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส

 

ผบ.ทหารสูงสุด สั่งให้ฝึกร่วมในรูปปฏิบัติการจริง

      จากแนวความคิดของกองทัพเรือในการฝึกทักษิณ ๑๐, ๑๒ และ ๑๓ ซึ่งเป็นการฝึกร่วมใน การปราบปราม ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ที่ได้ดำเนินการมา ๓ ครั้งนั้น ก่อนจะถึงการฝึกของแต่ละครั้ง บก.ทหารสูงสุด ได้กำหนดให้กองอำนวยการฝึกของกองทัพเรือไปบรรยายสรุปแผนการฝึกโดยละเอียดให้ ผบ.ทหารสูงสุด (จอมพล ถนอม กิตติขจร) และฝ่ายอำนวยการของ บก.ทหารสูงสุด ฟังด้วยทุกครั้ง

      ในปี พ.ศ.๒๕๑๔ คือภายหลังที่กองทัพเรือได้ทำการฝึกทักษิณ ๑๓ จบแล้ว ผบ.ทหารสูงสุด ได้พิจารณาเห็นว่า แนวความคิดในการฝึกร่วมของกองทัพเรือเพื่อปราบปราม ผกค.นั้น เป็นแนวความคิดที่ดีและมีประโยชน์ ผบ.ทหารสูงสุด จึงได้สั่งให้กองทัพบก จัดตั้งกองอำนวยการฝึกร่วมปี ๑๔ ขึ้น โดยจัดกำลังจากกองทัพบก และกองทัพอากาศ ไปฝึกปฏิบัติการจริงในการปราบปราม ผกค.พื้นที่จังหวัดน่าน เรียกการ ฝึกครั้งนี้ว่า “ การฝึกร่วมปี ๑๔ ตามแผนยุทธการผาลาด ” และการฝึกทำนองนี้ได้มีอีกครั้งหนึ่งในปี ๒๕๑๕

      เป็นการฝึกร่วมของกองทัพบกและกองทัพอากาศ เช่นเดียวกัน ในพื้นที่รอยต่อของจังหวัดพิษณุโลก เพชรบูรณ์ และเลย เรียกการฝึกนี้ว่า “ การฝึกร่วมปี ๑๕ ตามแผนยุทธการภูขวาง ”

      ต่อมา ปลายปี ๑๕ ถึงต้นปี ๑๖ (งป.๑๖) กองทัพบกได้ร้องขอกำลังทหารนาวิกโยธิน จำนวน ๑ กองพัน จากกองทัพเรือ ไปช่วยปราบปราม ผกค.ในการฝึกร่วมปี ๑๖ โดยกองทัพบก ให้หตุผลว่า เนื่องจาก กำลังพล ในการปราบปราม ผกค.ขาดแคลน กองทัพเรือได้สนองตอบคำขอของกองทัพบก โดยส่งกำลัง ๑ กองพันทหารราบ นาวิกโยธินเพิ่มเติมกำลัง เข้าร่วมฝึกด้วย บริเวณภูหินร่องกล้า ซึ่งเป็นพื้นที่รอยต่อของจังหวัดพิษณุโลก เพชรบูรณ์ และเลย เรียกการฝึกนี้ว่า “ การฝึกร่วมปี ๑๖ ตามแผนยุทธการสามชัย ”

      ในปลายปี ๑๖ ถึงต้นปี ๑๗ (งป.๑๗) กองทัพบกได้ร้องขอกองทัพเรือ เช่นเดียวกันจึงได้ส่งกำลังอีก ๑ กองพัน ทหารราบนาวิกโยธินเพิ่มเติมกำลัง ไปฝึกร่วมปี ๑๗ เพื่อปฏิบัติการจริงในการปราบปราม ผกค.พื้นที่จังหวัดเชียงราย เรียกการฝึกนี้ว่า “ การฝึกร่วมปี ๑๗ ตามแผนยุทธการผาภูมิ ” ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของการฝึกร่วมชนิดนี้ ด้วยเหตุผล พบข้อจำกัดของการฝึกร่วม ชนิดปฏิบัติการจริงหลายประการ เช่น หากเรียกชื่อว่าเป็นการฝึกแล้ว กำลังพลที่เข้าปฏิบัติการจริง เมื่อมีการเสียชีวิตเกิดขึ้นอาจมีปัญหาในด้านสิทธิกำลังพล

 
ยุทธการสามชัย
 
 

      ยุทธการสามชัย เป็นการปฏิบัติการจริงที่แฝงมาในคำว่าฝึก มีชื่อเป็นทางการว่า ” การฝึกร่วม ๑๖ เป็นการปราบ ผกค.ในพื้นที่ภาคเหนือ บริเวณรอยต่อ ๓ จังหวัด คือ เพชรบูรณ์, พิษณุโลก และเลย ปฏิบัติการในห้วงเวลาปลายปี ๑๕ ถึง ต้นปี ๑๖ (๓ ก.ค.๑๕-๒๙ ม.ค.๑๖) ใช้ งป.ปี ๑๖ นับว่าเป็นยุทธการแรกที่ นย.ได้มีโอกาสไปร่วมปราบปราม ผกค.กับกำลัง ทบ.(ทภ.๓) และ ทอ.ในพื้นที่ป่าภูเขาซึ่งอยู่ห่างไกลที่ตั้งของตนเอง และมีภูมิประเทศ ที่แตกต่าง จากชายฝั่งทะเลที่ นย.มีความคุ้นเคย

      จากเอกสารการบรรยายสรุปของ น.อ.ประชา กนิษฐชาด ผบ.ผส.นย.ที่บรรยายสรุปให้ผบ.ทร.และนายทหารผู้ใหญ่ของ ทร.ทราบ เกี่ยวกับยุทธการสามชัย หรือการฝึกร่วม ๑๖ เมื่อ ๑๕ พ.ย.๑๕ เวลา ๑๐๐๐ ณ ห้องประชุมส่วนบัญชาการ ทร. จะช่วยให้ทราบสาเหตุ ความเป็นมาที่ ทบ.ขอให้ ทร.จัด นย.ไปร่วมปฏิบัติการ ตลอดจนภูมิหลังต่าง ๆ ที่พอให้คนรุ่นหลังได้ทราบ เช่น

      - เมื่อกลาง มิ.ย.๑๕ กำลังของ นย.เพิ่งกลับจากการฝึกทดสอบแผนในการปฏิบัติการภาคใต้ ก็ได้รับคำสั่งให้ไปวางแผนกับ ทบ.ในการฝึกร่วม ๑๖ ที่ ศปก.ทบ.เมื่อ ๒๙ มิ.ย.๑๕ ทันที

      - จากเอกสาร ลับมาก ของ บก.ทหารสูงสุด และจากคำกล่าวของ ผอ.ฝร.๑๖ ในการประชุมวางแผนฝึกร่วม ๑๖ มีสาระสำคัญว่า “ทบ.ไม่มีเวลาพักผ่อนในการปราบปราม ผกค.โดยเฉพาะในเขต ทภ.๓ขอให้ ทร.ได้ช่วยบ้าง เพื่อให้ ทบ.ได้มีเวลาพักผ่อนตามสมควร ”

ประสบการณ์ของ นย.       ผบ.ผส.นย.ท่านกล่าวในที่ประชุม ศปก.ทบ.ว่า

      - เกาหลีก็ไม่มีโอกาสไป

      - เวียดนามก็ไม่ได้ไป

     ประสบการณ์จึงไม่มี แต่จะทำให้ดีที่สุด งบประมาณไม่สำคัญ ความสำคัญอยู่ที่การฝึกเตรียมเพราะกลับตัวแทบไม่ทัน

การประกอบกำลังและยอดกำลังพล จัดเป็น ๓ ส่วนใหญ่ ๆ โดยเฉพาะการจัดกำลังในส่วนที่ ๒ และ ๓ นั้น เป็นการจัดที่ประหยัดกำลังพลมาก

      ๑. พัน.ฉก.นย.(๑๐๖๑ ไม่รวม มว.บ.ฉก.)

              ๑ พัน.ร.ผส.นย. (พัน.ร.๑ เป็นแกนจัด บก.พัน.มี ๓ ร้อย.ปล.จัดจาก พัน.ร.๑, พัน.ร.๓ และพัน.ร.๗ กองพันละ ๑ ร้อย.ปล.)

              ๑ ร้อย.ป.๑๐๕ มม.

              ๑ มว.พ.

              ๑ มว.ลาดตระเวน

              ๑ มว.ช่าง

              ๑ มว.บินเฉพาะกิจ (มว.ฉก. จัดจาก กบร.กร. มี บ.ตรวจการณ์ โอ.๑ จำนวน ๓ เครื่อง)

        ๒. ชุดสนับสนุนการช่วยรบ (๓๓) มีหน้าที่คล้ายส่วนสนับสนุนทางการช่วยรบของการจัดกำลังพลยกพลขึ้นบก

        ๓. ประจำ กกล.เขต ทภ.๓ (๒๖)

กำลังส่วนนี้มีชื่อเรียกภายใน นย.ว่า บก.กกล.นย.ทำหน้าที่ควบคุมกำลังของ ทร.ทั้งหมดที่เข้าปฏิบัติการในยุทธการสามชัย

        - ในขั้นการฝึกเตรียม ทำหน้าที่เป็นกองอำนวยการฝึก

        - ในขั้นปฏิบัติการจริง แปรสภาพกำลังพลเข้าไปอยู่ใน บก.กกล.เขต ทภ.๓ (ส่วนหน้า)

        - บก.ผส.นย.เป็นแกนหลักในการจัดกำลังและมีนายทหาร จากกองพันและหน่วยต่าง ๆ ของ ผส.นย.มาร่วมด้วย โดยมี ผบ.ผส.นย.เป็น ผบ.หน่วย

การฝึกเพื่อเตรียมรบ

       เนื่องจาก นย.ยังขาดประสบการณ์ ในการรบจริงเป็นหน่วยใหญ่ และพื้นที่ปฏิบัติการก็แตกต่างจากที่ นย.คุ้นเคย อีกทั้งเป็นงานใหญ่งานแรก จึงพลาดไม่ได้ แพ้ไม่ได้ ดังนั้น ผบ.ผส.นย.ท่านจึงเน้นการฝึกเตรียมเป็นหัวใจสำคัญที่สุด และถือได้ว่าการฝึกเตรียมสำหรับยุทธการสามชัย เป็นการฝึกเตรียม เพื่อการปฏิบัติการรบที่สมบูรณ์ที่สุด ที่ นย.เคยกระทำมาจนกระทั่งบัดนี้ (พ.ศ.๒๕๔๐)โดยแบ่งการฝึกออกเป็นขั้น ๆ ดังนี้

ขั้นที่ ๑  เป็นการฝึกเตรียมตั้งแต่ ๓ ก.ค.-๒๕ ส.ค.๑๕ ณ พื้นที่ อ.สัตหีบ จว.ชลบุรี, อ.แกลง จว.ระยอง และ อ.มะขาม, อ.โป่งน้ำร้อน จว.จันทบุรี กระทำการฝึกในเรื่องต่าง ๆ

         ๑. อาวุธศึกษาและการยิงอาวุธทุกชนิด

         ๒. แผนที่เข็มทิศ

         ๓. การปฐมพยาบาล

         ๔. วัตถุระเบิดและกับระเบิด

         ๕. สัญญาณ

         ๖. การต่อสู้ป้องกันตัว

         ๗. การเดินทางในป่า-ภูเขา และการดำรงชีพในป่า

         ๘. การลาดตระเวน

         ๙. การเข้าฐานปฏิบัติการในป่า

        ๑๐. การซุ่มโจมตี และการต่อต้านการซุ่มโจมตี

        ๑๑. การเข้าตีที่มั่นแข็งแรง

        ๑๒. การปฏิบัติโดยเฉียบพลัน

        จัดการฝึกเป็นสถานี มีชุดครูฝึกประจำใช้หลักฐานการฝึกทั้งจากของ นย.สหรัฐฯ และจากหลักสูตรการรบในป่าของ ทบ.อังกฤษ ในช่วงหลังของการฝึก จัดเป็นหน่วย หมู่ หมวด กองร้อย ขั้นสุดท้ายกองร้อยปฏิบัติการ ๕ วัน โดยไม่มีการเพิ่มเติมเสบียงให้ ประสบการณ์ต่าง ๆ ที่ ทบ.และ ตชด.เคยประสบ จุดอ่อนจุดแข็งของ ผกค.จะได้รับการบอกเล่า ชี้แจง แก้ไข ป้องกัน และเตรียมเอาไว้ใช้รุกตอบโต้ เช่น การยิงปืนเล็กป้องกันฐานที่ตั้งในเวลากลางคืน ไม่เห็นตัวอย่ายิง อย่าหยุดตั้งฐานหลายวัน จะถูก ผกค.ตรวจพบ
อย่าเดินตามเส้นทางจะโดนซุ่มโจมตีการเอาน้ำตามลำธารในภูมิประเทศแหล่งที่สะดวกจะมีกับระเบิดหรือถูกซุ่มโจมตี การหาน้ำจากต้นกล้วย ฯลฯ ผลการฝึกเป็นที่น่าพอใจ

ขั้นที่ ๒    เป็นการฝึกในพื้นที่ปฏิบัติการตั้งแต่ ๖-๒๖ ก.ย.๑๕ โดยเคลื่อนกำลังไปฝึกที่บริเวณ อ.หล่มเก่า และ อ.หล่มสัก จว.เพชรบูรณ์ กำลังที่กระทำฝึก คือ ๒ กองร้อยปืนเล็ก และ ๑ หมวดลาดตระเวน เป็นการฝึก ในลักษณะปฏิบัติการจริง ใช้กระสุนจริง และพื้นที่ป่าเขาของพื้นที่ปฏิบัติการจริง แต่เป็นชายขอบพื้นที่ที่ ผกค.ไม่มีการปฏิบัติการหนาแน่น ทำการฝึกในขนาดหน่วย หมวด ปล.ปฏิบัติการ ๕-๖ วัน โดยไม่ส่งกำลังบำรุง ในลักษณะการลาดตระเวน รบ ค้นหา ทำลาย ผลการฝึกในขั้นนี้ได้ประโยชน์มาก ทำให้กำลังพลได้ทราบลักษณะภูมิประเทศจริง ๆ เช่น

        - ป่าไม้ทึบเกินไป เมื่อเปรียบเทียบกับป่าเขา บริเวณ อ.มะขาม และ อ.โป่งน้ำร้อน แล้ว ทึบกว่ามาก (เมื่อปี ๒๕๑๕ มิใช่ปัจจุบัน ๒๕๔๐)

        - ภูเขาสูงชันไม่เป็นอุปสรรคแก่ทหารนาวิกโยธิน เพราะได้ฝึกปีนเขาที่จันทบุรี ซึ่งสูงมาก ๆ มาแล้วทุกคน

        - กำลังพลมีความมานะ อดทนสูง อย่างน่าชมเชย สามารถแบกสัมภาระต่าง ๆ ปีนขึ้นเขาลงเขาได้โดยไม่บ่น

       ผลการฝึกเป็นที่น่าพอใจมาก และการฝึกในขั้นนี้ทำให้พลนำทางชาวม้งที่ทาง ทภ.๓ เตรียมไว้ให้ นย.นั้น หมดความจำเป็น เนื่องจากชาวม้งนำทางเหล่านี้รู้เฉพาะเส้นทางเดินที่เขาเคยใช้จากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่ง เหมือนทางเดินตามชนบทพื้นราบ ซึ่ง นย.ไม่เดินตามนั้น เพราะจะไปเข้าที่ซุ่มโจมตีของ ผกค. นย.เดินตามเข็มทิศ ตัดป่ามุ่งตรงไปหาที่ตั้งของ ผกค.

ขั้นที่ ๓   เป็นการฝึกเพิ่มเติมตั้งแต่ ๘-๒๗ ต.ค.๑๕ เพื่อฝึกซ้ำ และเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดความชำนาญขึ้นไปอีก ทำการฝึกในพื้นที่สัตหีบ ระยอง และจันทบุรี วิชาที่ฝึกได้แก่

        ๑. การขอและปรับการยิงปืนใหญ่ โดย ผบ.หมู่ และ ผบ.หมวด ทหารราบ

        ๒. การฝึกใช้รหัสทางการสื่อสาร โดย ผบ.หมู่ และ ผบ.หมวด ทหารราบ

        ๓. การรบบนภูเขา และป่า

        ๔. การยิงปืนในป่า

        ๕. การเข้าตีที่มั่นแข็งแรง

        ๖. การปฏิบัติโดยฉับพลัน

        ๗. การขว้างระบิด

        ๘. การยิงปืนในเวลากลางคืน

        ๙. การฝึกพลแม่นปืน โดยให้แต่ละหมู่คัดเลือกพลทหารและจ่าที่ยิงปืนแม่น มาทำการฝึกยิงเป้า จนชำนาญ ในลักษณะการยิงแบบพลแม่นปืนซุ่มยิง

       จากการฝึกเตรียมอย่างเข้มข้นเช่นนี้ ทำให้กำลังพลทุกคนมีขวัญและกำลังใจดีมากทุกคนมีความมั่นใจ ในขีดความสามารถของตนเองและของหน่วย มีความรักหมู่คณะสูง มีเรื่องและเหตุการณ์บางอย่างยืนยัน เช่น

       เรื่องแรก เกี่ยวกับวินัยการยิงปืน เรากวดขันมิให้ยิงปืน เพื่อเอาเสียงปืนเป็นเพื่อนหรือเพื่อข่มความกลัว จะยิงเมื่อเห็นตัว มีเรื่องเล่ากันว่า พลทหารคนหนึ่ง ในการป้องกันฐานพักแรม คืนวันหนึ่งขณะมองเห็นตัว ผกค.ที่ด้อม ๆ เกาะฐานและพยายามยิงปืน เพื่อให้พวกเรายิงตอบโต้ จะได้เป็นการเปิดเผยแนวป้องกัน ฝ่ายเราก็เงียบ ทหารคนหนึ่งมองเห็น ผกค.ยังอุตส่าห์ กระซิบ ผบ.หมู่ ขออนุญาตยิงปืน เรื่องนี้เป็นเรื่องเล่าขำขันของพวกเรา แต่ก็แสดงถึงวินัยอันดีเยี่ยมอย่างหนึ่ง จากผลการฝึก

      เรื่องที่สอง พลทหารคนหนึ่งถูกยิงบาดเจ็บและถูกส่งกลับลงจากเขามารักษาในโรงพยาบาลสนาม พอบาดแผลหายพอปฏิบัติงานได้ แม่ทัพภาค ๓ พล.ท.สำราญ แพทยาคุณ ท่านไปเยี่ยม และถามว่าจะกลับบ้านไปพักผ่อนไหม ทหารผู้นั้นตอบว่า “ ขอกลับขึ้นแนวรบอีก ” มทภ.๓ ท่านว่าทำไมไม่ไปพักผ่อนละ ทหารผู้นั้นตอบว่า ” ผมเป็นห่วง ผบ.หมู่และเพื่อนในหมู่ ขณะนี้เหลือเพียง ๑๑ คนเท่านั้น เพราะเสียชีวิต ๑ คน และผมมาป่วยอีก ๑ คน (หมู่ ปล.นย.มี ๑๓ คน) เมื่อผมกลับขึ้นไป จะมีคนเพิ่มอีก ๑ คน ” มทภ.๓ ท่านหันมาถาม ผบ.ผส.นย.ว่า นย.ฝึกกันอย่างไร ถึงได้คนอย่างนี้ ผู้เขียนเป็นนายทหารยุทธการของ กกล.นย.ติดตาม ผบ.ผส.นย.ไปในคณะด้วย จึงทราบเรื่องนี้และติดหูติดตามาตลอด ทหารผู้นั้นได้กลับขึ้นแนวรบ
ไปอีกตามที่เขาต้องการ นับเป็นเกียรติประวัติที่น่าชื่นชมเป็นอย่างยิ่ง

 
การเคลื่อนย้ายเข้าสู่พื้นที่ปฏิบัติการ
 

      การเคลื่อนย้ายกำลังต่าง ๆ ของ พัน.ฉก.นย.จากที่รวมพล พัน.ร.๑ ผส.นย.ค่ายกรมหลวงชุมพร อ.สัตหีบ อ.สัตหีบ จว.ชลบุรี เข้าสู่พื้นที่รวมพลขั้นสุดท้ายที่ ค่ายลูกเสือเมืองลุ่ม อ.หล่มเก่า จว.เพชรบูรณ์ โดยยานยนต์ กระทำเป็น ๓ ส่วน (เที่ยวขน) ส่วนการเคลื่อนย้ายจากที่รวมพลขั้นสุดท้ายขึ้นสู่ฐานปฏิบัติการ บ.ป่ายาบ (บนเขา) ในพื้นที่รับผิดชอบนั้นกระทำด้วยกำลังทางอากาศ กำลังพลทหารราบลำเลียงด้วย ฮ.ฮิวอี้ ของ ทบ.และ ทอ.รวม ๑๐๕ เที่ยว, ป.๑๐๕ มม. ยกหิ้วด้วย ฮ.ซีนุก ของ ทบ., ทก.พัน,ทางยุทธวิธีตั้งอยู่ที่ บ.ป่ายาบ ณ ฐานปฏิบัติการ บ.ป่ายาบ ซึ่งตั้งอยู่บนยอดเขาลูกหนึ่งของเทือกเขาที่เป็นรอยต่อเขตแดน ๓ จังหวัด เพชรบูรณ์ เลย และพิษณุโลก ซึ่งมีภูหินร่องกล้า รวมอยู่นี้ด้วยนี้ ร้อย.ปล.ทั้ง ๓ กองร้อย ของ พัน.ฉก.นย.ได้เคลื่อนย้ายเข้าปฏิบัติ ในเขตพื้นที่รับผิดชอบของตนต่อไป ส่วน ร้อย.ป.ก็ใช้ฐานยิงสนับสนุนให้แก่ ร้อย.ปล.ทั้ง ๓ กองร้อย ของพัน.ฉก.นย.ได้อย่างทั่วถึงทุกจุด และยังสามารถยิงสนับสนุนกำลังของ ทบ.ในพื้นที่ข้างเคียงได้ด้วย นับว่าเป็นที่ตั้งปืนใหญ่ที่เหมาะสมมาก

      ส่วนกำลังของ บก.กกล.นย.ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกำลังใน กกล.เขต ทภ.๓ (ส่วนหน้า) และชุดสนับสนุนการช่วยรบนั้นเคลื่อนย้ายจาก บก.ผส.นย. สัตหีบ โดยยานยนต์ไปเข้าที่รวมพล ณ ค่ายลูกเสือ
พ่อขุนผาเมือง อ.หล่มสัก จว.เพชรบูรณ์ ในขั้นการเคลื่อนย้ายเข้าสู่พื้นที่ปฏิบัติการนี้ใช้เวลาตั้งแต่ ๓ พ.ย.๑๕ ถึง ๒๘ พ.ย.๑๕ รวม ๒๖ วัน

การปฏิบัติการ ระยะเวลาตั้งแต่ ๑ ธ.ค.๑๕ ถึง ๒๙ ม.ค.๑๖ รวม ๖๐ วัน

      เป็นการลาดตระเวนรบด้วยหน่วยขนาดกองร้อยปืนเล็กเพิ่มเติมกำลัง ในพื้นที่ปฏิบัติการที่ได้รับมอบโดยการเคลื่อนย้าย ค้นหา ทำลาย และหยุดเข้าฐานพักแรมคืน แห่งละ ๑ – ๓ คืน มีการส่งหมวดปืนเล็ก แยกออกไปปฏิบัติการเป็นการครั้งคราว การปฏิบัติจะพุ่งเข้าหาที่หมายหลัก คือ ฐานหรือที่พัก ผกค.ที่คาดหมายไว้ แต่ละกองร้อยจะรุกคืบหน้าไปเรื่อย ๆ จนถึงที่หมายขั้นสุดท้ายของตนเอง การเดินทางใช้ตามระบบแผนที่เข็มทิศเป็นหลัก การเข้าฐานพักแรมคืนในแต่ละวัน จะใช้ปืนใหญ่ยิงกระสุนควัน MARKING ROUND เพื่อหาที่อยู่ที่แน่นอนของฐาน เมื่อถูกโจมตี ปืนใหญ่จะยิงช่วยได้อย่างรวดเร็วทันการและแม่ยำ ในศึกครั้งนี้ ปืนใหญ่มีบทบาทมาก โดยเฉพาะกองร้อยปืนใหญ่ของ นย.ซึ่งมี ร.อ.สมภูรณ์ สุนทรเกตุ เป็น ผบ.ร้อย มีผลงานจนเป็นที่ยอมรับของกองพันทหารราบต่าง ๆ ของ ทบ.ที่เข้าร่วมปฏิบัติการในครั้งนั้น

      ในยุทธการสามชัย นย.ได้บทเรียนมากมาย การรบครั้งหนึ่งในหลาย ๆ ครั้ง ในยุทธการสามชัย ถือว่าได้เป็นการปฏิบัติการร่วมกันของกำลังทางบกและทางอากาศ ของสามเหล่าทัพจริง ๆ สมตามชื่อว่า "ยุทธการสามชัย" คือการช่วยคนเจ็บกลับออกจากพื้นที่รบของ ปล.ที่ ๒ ซึ่งมี ร.อ.ชีวิน ปิ่นทอง เป็น ผบ.ร้อยเนื่องจาก ผกค.ได้เกาะอยู่รอบ ๆ ฐานปฏิบัติการของกองร้อย การนำ ฮ.ลงรับคนป่วยต้องใช้กำลังทางอากาศของ ทอ.ทิ้งระเบิดและยิง ปก.สกัด ทำลาย ข่ม ไว้ทางด้านหนึ่ง อีกด้านหนึ่งใช้ปืนใหญ่ ๑๐๕ มม. จาก ร้อย.ป.นย.(ซึ่งมี ร.อ.สมภูรณ์ สุนทรเกตุ เป็น ผบ.ร้อย.) ยิงสกัดข่มไว้อีกด้านหนึ่ง และ ฮ.ของ ทบ. จะต้องบินรอดใต้กระสุนปืนใหญ่เข้ามารับคนป่วยจึงสำเร็จ ถือว่าเป็นการปฏิบัติการร่วม สามเหล่าทัพที่สมบูรณ์จริง ๆ รายละเอียดการปฏิบัติ พล.ร.ท.ทวีชัย เลียงวิบูลย์ รอง ผบ.กร.ซึ่งเป็นนายทหาร ยุทธการ ทางอากาศ ของ กกล.นย. และ กลล.ทภ.๓ (สน.) ในขณะนั้น ได้รวบรวมไว้เป็นประวัติศาสตร์ในหนังสือเล่มนี้แล้ว การปะทะกับ ผกค.ซึ่ง ๆ หน้า ในลักษณะการปฏิบัติแบบฉับพลัน ฝ่ายเราได้เปรียบ ผกค.ตลอด ยิงก่อน ยิงแม่นกว่า การเคลื่อนย้ายฐานปฏิบัติการระดับกองร้อย หรือหมวด ทุก ๆ วัน ไม่เคยถูก ผกค.รบกวนฐานเพราะ ผกค.ยังไม่พบฐาน เนื่องจากเดาไม่ถูกว่าฝ่ายเราเคลื่อนย้ายไปทางไหน เพราะเราเดินตามเข็มทิศ ไม่เดินตามเส้นทาง แม้เมื่อถูกตรวจพบฐาน ผกค.พยายามยิงเพื่อให้ฝ่ายเรายิงโต้ตอบเพื่อเปิดเผยแนว แต่เมื่อฝ่ายเราเงียบสงบ และจะยิงเฉพาะเมื่อเห็นตัว ซึ่ง ผกค.ยังไม่ทราบแนวป้องกัน ผกค. จะไม่กล้าเข้าตีเป็นกลุ่มก้อน การเคลื่อนที่ของเราด้วยการเดินตัดป่าตามเข็มทิศแม้จะไปได้ช้า แต่ปกปิดจุดมุ่งหมาย เมื่อถึงที่หมายหลัก จึงสามารถจู่โจมทำลายได้ง่ายสำเร็จตามแผนที่หน่วยเหนือมอบกิจให้ พลทหารที่ได้รับการฝึกอย่างเข้มข้น จ้ำจี้จ้ำไชจะมีขีดความสามารถใกล้เคียงกันทั้งหมู่ จนสามารถทำการแทนกันได้ และมีความรักสามัคคีในหน่วยสูงมาก การปฏิบัติการเกือบจะไม่ต้องสั่งด้วยวาจา การส่งเสบียงอาหาร พัน.ฉก.นย.ส่งทุก ๓ วัน เนื่องจากเกรงว่า ถ้าส่งทุก ๕ วัน จะทำให้ทหารต้องแบกน้ำหนักมากเกินไป เพราะมีกระสุนอยู่ ๑ อัตรามูลฐานพร้อมวัตถุระเบิดอยู่ด้วยแล้ว แต่ความจริงที่พบ ในยุทธการสามชัย ครั้งนี้คือ อัตราเสบียงอาหารแห้ง พวกข้าวสารที่เราคำนวณว่า ทหารคนหนึ่งต้องกินวันละ ๗๐๐ กรัม/คน นั้น ในยามรบที่ต้องเคลื่อนย้ายทุกวันเช่นนี้ ทหารจะรับประทานข้าวสารน้อยกว่า อัตราที่กำหนดให้ เพราะทหารจะหุงอาหารวันละ ๒ ครั้ง และอาหารหลักก็วันละ ๒ ครั้งเท่านั้น มื้อกลางวันไม่มีเวลาหุงหาอาหาร ดังนั้นอาหารมื้อกลางวัน จึงเป็นของที่กินง่าย ๆ ไม่ต้องปรุงแต่ง เช่น ข้าวตู ข้าวตาก มาม่า ยำยำ ๆ อะไรก็ได้ที่สามารถกินได้ โดยไม่ต้องใช้ไฟหรือน้ำร้อน การส่งเสบียงในช่วงต่อมา นย.จึงทำเป็นข้าวคั่วใส่พริกแห้ง กุ้งแห้ง ให้มีโปรตีนสามารถกินได้ตลอดเวลา อนึ่ง ขนมหวานต่าง ๆ ก็เป็นซึ่งที่ทหารชอบมาก เช่น พวกถั่วตัด ข้าวเหนียวแดง ฯลฯ สำหรับข้าวสารนั้นในระยะหลังหน่วยขอให้ลดจำนวนลง เพราะใช้น้อยกว่าที่คำนวณไว้ ความจริงอัตราข้าวสาร ๗๐๐ กรัม/คน/วัน ในที่ตั้งปกติสำหรับพลทหารเมื่อ ๒๕ ปีโน้น ถ้าวันใดมีน้ำพริกข้าวจะไม่พอด้วยซ้ำ น้ำดื่ม เป็นสำคัญที่จะต้องส่งให้ทุกเที่ยวเสบียง เนื่องจากในพื้นที่ปฏิบัติการ น้ำหายาก ทุกจุดที่มีน้ำก็มีกับระเบิด และมีการซุ่มโจมตีของ ผกค. มีหลายครี้งที่ผบ.ผส.นย.ให้เอาน้ำใส่ท่อพลาสติกชนิดนิ่ม ขนาดโต ๆ โดยมัดหัวท้ายเป็นท่อน ๆ ส่งโดยการทิ้ง FREE DROP จากทางอากาศ ครั้งหนึ่งมีการส่งเสบียงนอกรอบ คือ ร้อย.ปล.๒ พัน.ฉก.นย.ถูก ผกค.ล้อมอยู่รอบ ๆ ฐาน จน ฮ.ไม่สามารถลงส่งเสบียงให้ได้ และก็ยังรับคนเจ็บกลับไม่ได้ด้วย เลยเวลามาแล้วเป็นวันที่ ๒ บรรดานายทหารหนุ่มระดับ ร.อ.-พ.ต.(น.ต.) ทั้งสามเหล่าทัพที่ปฏิบัติงานอยู่ ใน บก.กกล.เขต ทภ.๓ (ส่วนหน้า) ที่สนามบินหล่มสัก ได้รวบรวมเงินกัน กว้านซื้อ กล้วยทอด มันทอด จนหมดตลาดหล่มสัก ให้ บ.ตรวจการณ์ (บ.โอ.๑ เอ) ของ ทอ.เอาไปทิ้งให้ ร้อย.ปล.๒ พอจบภารกิจแล้ว ถาม ร้อย.ปล.๒ ได้รับคำตอบว่า “ พี่วันนั้นได้กล้วยทอด มันทอด คนละ ๒-๓ ชิ้น ดีกว่าไม่มีอะไรเลย” ถือว่าเป็นการแสดงความห่วงใยซึ่งกันและกันของเพื่อนร่วมรบที่เห็นใจ และเข้าใจ สถานการณ์ที่เพื่อนประสบอยู่

      การยิงสนับสนุนทางอากาศ โดยใกล้ชิดจาก บ.ทอ.หลาย ๆ ครั้ง สำเร็จผลดียิ่ง เพราะนักบินกับผบ.ร้อย.ปล.เป็นเพื่อรุ่นเดียวกันการช่วยเหลือจึงมิใช่กระทำตามหน้าที่ เท่านั้น แต่เป็นการกระทำเพื่อช่วยเหลือเพื่อตนเองด้วย

      การส่งกระสุนเพิ่มเติมตลอดเวลาเกือบไม่ได้กระทำ เพราะกำลังพลที่ได้รับการฝึกอย่างดีนั้น จะใช้กระสุนน้อย และคุ้มค่า แม้ว่าจะมีการปะทะบ่อยครั้งก็ตาม วงรอบเสบียงในกิจเช่นนี้ ภูมิประเทศเช่นนี้ ควรใช้วงรอบเสบียง ๕ วัน เสบียงควรเป็นของกึ่งสำเร็จรูปปรุงก็ได้ ไม่ปรุงกินก็ได้ มีน้ำหนักเบา มีคุณค่าทางอาหารเพียงพอ

      พลโท บุญชัย บำรุงพงศ์ ผู้อำนวยการฝึกร่วมปี ๑๖ ได้กล่าวรายงานสรุปผลการฝึกร่วมปี ๑๖ ให้ ผบ.ทหารสูงสุด, ผบ.ทบ., ผบ.ทอ.และอธิบดีกรมตำรวจ พร้อมด้วยผู้แทน ๓ เหล่าทัพ ประมาณ ๓๐๐ คน ฟัง ณ หอประชุมกิตติขจร รร.นายร้อย จปร. เมื่อวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๑๖ ตอนหนึ่งที่ท่านผู้อำนวยการฝึกร่วมปี ๑๖ กล่าวกับ พัน.ฉก.นย.ว่า

     “ กระผมมีความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง ที่มีกำลังของหน่วยนี้เข้าปฏิบัติการร่วมด้วย ตลอดระยะเวลาที่กำลังนาวิกโยธิน หน่วยนี้เข้าปฏิบัติการ กระผมขอกราบเรียนด้วยความจริงใจว่า กองพันนาวิกโยธินกองพันนี้ มีประสิทธิภาพสูงสามารถเข้าร่วมการฝึกเคียงบ่าเคียงไหล่กับกองพันของกองทัพบกได้อย่างดีเยี่ยม”

 
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จเยี่ยม พัน.ฉก.นย.
 
      เหนือสิ่งอื่นใด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเจพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนราชสุดา และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรวลัยลักษณ์ ได้ทรงเสี่ยงอันตรายเสด็จพระราชดำเนินโดยเฮลิคอปเตอร์ ไปทรงเยี่ยม พัน.ฉก.นย.ถึงฐานปฏิบัติการ ณ บ้านป่ายาบ เมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๑๖ ซึ่งขณะนั้นยังทำการรบกันอยู่ ต้องเสด็จพระราชดำเนินผ่านคูสนามเพลาะด้วยความยากลำบาก น้ำตาแห่งความปลื้มปิติยินดี แลซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ คลออยู่ในดวงตาของทหารนาวิกโยธิน โดยไม่รู้ตัว ความเหนื่อยยากและทุกข์ทรมาน เหือดหายไปปลิดทิ้ง ทหารนาวิกโยธินทุกนาย ต่างสวดภาวนาขอให้ทั้งสี่พระองค์ทรงพระเจริญและปลอดภัย