>> ประวัติกรมทหารปืนใหญ่

Release Date : 15-04-2023 00:00:00
>> ประวัติกรมทหารปืนใหญ่

ประวัติกรมทหารปืนใหญ่ กองพลนาวิกโยธิน

ในต้นรัชกาลที่ ๕ ปี พ.ศ.๒๔๑๘ ทางราชการได้จัดหาปืนกลแคตลิ่ง ซึ่งเป็นอาวุธที่ทันสมัยมาใช้ราชการ ในหน่วยทหารมะรีน โดยจัดตั้งเป็น กองพันทหารปืนใหญ่ โดยมี น.อ.พระชลยุทธโยธิน หรือ กัปตัน ริชลิว ชาวเดนมาร์ก เป็นผู้บังคับบัญชา (เริ่มมีหน่วยทหารปืนใหญ่ขึ้น แต่ยังมิได้กำหนดเป็นเหล่าทหารปืนใหญ่)

 

ต่อมาปี พ.ศ.๒๔๖๖ มีการจัดตั้งหน่วยทหารมะรีนใหม่ ใช้ชื่อว่า “กองพันพาหนะ” แบ่งออกเป็น ๒ เหล่า คือ เหล่าทหารราบ และเหล่าทหารปืนใหญ่ ตามคำสั่ง กรมทหารเรือที่ ๑๑/๑๕๕๒ เรื่อง ระเบียบข้าราชการในกรมทหารเรือ ให้ทหารมะรีนเหล่าทหารปืนใหญ่ เป็นทหารป้อมปืนทางปากน้ำ  ปี พ.ศ.๒๔๗๕ กองพันพาหนะได้เปลี่ยนชื่อเป็น กองพันนาวิกโยธิน แล้วจัดตั้ง ๑ กองร้อยทหารปืนใหญ่ขึ้น ใช้ปืนใหญ่ภูเขา ขนาด ๗๕ มม. ผลิตจากประเทศญี่ปุ่น (ใช้ในราชการจนถึง ปี พ.ศ.๒๔๙๔)  

 

ปี พ.ศ.๒๔๘๒ จัดตั้งกรมนาวิกโยธินขึ้นเป็นครั้งแรกประกอบด้วย ๒ กองพันทหารราบ และ ๑ กองพันทหารปืนใหญ่ โดยใช้ชื่อว่ากองพันนาวิกโยธินที่ ๔ และเปลี่ยนเป็นกองพันทหารนาวิกโยธินที่ ๑๑ ตามลำดับ จนกระทั้งเมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๘ จึงได้มีชื่อใหม่เป็น กองพันทหารปืนใหญ่  กรมนาวิกโยธิน (พัน.ป.นย.)

 

ในปี พ.ศ.๒๕๐๔ มีการปรับอัตราใหม่เป็น “กองพันทหารปืนใหญ่ กรมผสมนาวิกโยธิน กรมนาวิกโยธิน” (พัน.ป.ผส.นย.) ประกอบด้วย ๔ กองร้อยทหารปืนใหญ่เบาขนาด ๗๕ มม. ๑ กองร้อยเครื่องยิงลูกระเบิดหนัก และ ๑ กองร้อยทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๑ กระทรวงกลาโหมได้มีคำสั่ง ลับมาก (เฉพาะ) ที่ ๑๒๘/๒๕๒๑ ลง ๑๐ ส.ค.๒๑ เรื่อง แก้ไขอัตรากองทัพเรือ พ.ศ.๒๕๐๑  ยุบกรมผสมนาวิกโยธิน และจัดตั้ง กรมทหารปืนใหญ่ และหน่วยอื่นๆ   ขึ้นตรงต่อ กรมนาวิกโยธิน ใช้ชื่อว่า “กรมทหารปืนใหญ่” ประกอบด้วย กองบังคับการกรม และกองร้อยกองบังคับการ, ๒ กองพันทหารปืนใหญ่เบากระสุนวิถีโค้ง, ๑ กองพันทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน  และ ๑ กองพันทหารปืนใหญ่กลางกระสุนวิถีโค้ง  และในปี พ.ศ.๒๕๓๒ กระทรวงกลาโหมได้มีคำสั่ง ลับมาก (เฉพาะ) ที่ ๕๒/๒๕๓๒ ลง ๓๑ มี.ค.๓๒ เรื่อง  แก้อัตรากองทัพเรือ พ.ศ.๒๕๐๑ โดยมีการจัดตั้ง กองพลนาวิกโยธิน เป็นหน่วยขึ้นตรงต่อ นย. กรมทหารปืนใหญ่ จึงได้เปลี่ยนสายการบังคับบัญชาใหม่เป็น “กรมทหารปืนใหญ่ กองพลนาวิกโยธิน หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน” ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาจนถึง ปัจจุบันนี้

 

ทหารปืนใหญ่ นาวิกโยธิน เป็นหน่วยซึ่งมีหน้าที่หลักในการยิงสนับสนุน ให้กับหน่วยดำเนินกลยุทธ แต่ในการที่จะปฏิบัติภารกิจของทหารปืนใหญ่นั้น จะต้องประกอบด้วย ผู้ตรวจการณ์ ศูนย์อำนวยการยิงและส่วนยิง ซึ่งกรมทหารปืนใหญ่ได้ฝึกกำลังพลให้มีความรู้ความสามารถในการทำงานของแต่ละส่วนอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้สามารถตอบสนองภารกิจของหน่วยเหนือ โดยยึดคำขวัญที่ว่า ชำนาญ  ดีกว่าโชค”

และเมื่อวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๐๙ กองพันทหารปืนใหญ่ กรมผสมนาวิกโยธิน กรมนาวิกโยธิน (พัน.ป.ผส.นย.)ได้จัดกำลังพลพร้อมอาวุธ ปบค.ขนาด ๗๕ มม. จำนวน ๒ กระบอก เพื่อไปปฏิบัติภารกิจในยุทธการบ้านหาดเล็กป้องกันการรุกล้ำอธิปไตย จากประเทศกัมพูชา ดังนั้น จึงได้ถือเอาเหตุการณ์และวันสำคัญตามประวัติศาสตร์ดังกล่าว ในวันที่ ๓๑ มกราคม ของทุกปี เป็น “วันคล้ายวันสถาปนากรมทหารปืนใหญ่”